วิกฤตแรงงานอังกฤษ เข้าขั้น “หายนะ”

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา “วิกฤตขาดแคลนแรงงาน” ในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้เข้ามามีผลกระทบหลากหลายอุตสาหกรรม

จากตอนแรกที่ภาวะขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุก ได้ทำให้ซัพพลายเชนของประเทศเข้าขั้นวิกฤต และเริ่มเกิดปรากฏการณ์ “ขาดแคลนอาหาร”

แต่ตอนนี้ ภาวะขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกก็ได้เข้าไปส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมัน และกำลังทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเกิดขึ้นทั่วประเทศ

เดอะ การ์เดี้ยน รายงานว่า หลังจากเริ่มมีรายงานถึงภาวะขาดแคลนน้ำมันเพิ่มมากยิ่งขึ้น ก็ได้ทำให้ผู้คนกังวลว่าน้ำมันจะขาดแคลน ประชาชนจึงแห่กันไปต่อคิวเติมน้ำมัน จนทำให้หลายปั๊มไม่มีน้ำมันเหลือ

และจากการคาดการณ์ล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปั๊มน้ำมันราว 50% จากทั้งหมด 8,300 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร ไม่มีน้ำมันเหลือเลย

โดยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนดังกล่าว ทางการได้สั่งให้กองทัพสหราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมเป็นต้นไป ช่วยขนส่งน้ำมันไปตามปั๊มต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันขาดแคลน

ขณะเดียวกัน ภาวะขาดแคลนแรงงานก็เข้ามาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตร เพราะทำให้ไม่มีผู้คนมาเก็บสินค้าเกษตร จนทำให้สินค้าเน่าเสีย

นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงหมูของสหราชอาณาจักรยังระบุว่า อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมจะเข้าขั้นหายนะ หลังก่อนหน้านี้ ทางสมาคมออกมาเตือนว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานที่โรงเชือดหมู จะทำให้เกษตรกรต้อง “สูญเสีย” หมูมากถึง 120,000 ตัว

ทั้งนี้ ภาวะขาดแคลนแรงงาน เกิดขึ้นเนื่องจาก “เบร็กซิต” หรือการที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ไม่สามารถดึงดูดพนักงานจากอียูให้กลับมาทำงานได้ เพราะขั้นตอนการสมัครงานที่มีความยุ่งยากกว่าเดิม ประกอบกับช่วงที่โควิด-19 ระบาด ได้ขัดขวางกระบวนการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ สำหรับการทำงานอย่างมาก โดยเมื่อปีที่แล้วมีการทดสอบใบขับขี่สำหรับคนขับรถบรรทุกน้อยลงกว่าเดิมถึง 30,000 คน

รายงานข่าวระบุว่า ช่วงที่โรคเริ่มระบาดเมื่อครึ่งแรกของปี 2020 มีพนักงานขับรถบรรทุกจากอียูมากถึง 14,000 คนที่ลาออกจากงาน โดยไม่ถึงพันคนได้กลับมาทำงานภายในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่สมาคมขนส่งสินค้าสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่า ตอนนี้ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกหลายแสนคน

โดยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน ทางการได้ออกวีซ่าให้กับพนักงานขับรถบรรทุกต่างชาติที่ต้องการเข้ามาให้บริการในสหราชอาณาจักร หลังจากเคยยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีการนี้ก็ตาม

รายงานข่าวระบุว่า ทางการออกวีซ่าชั่วคราวสำหรับพนักงานขับรถบรรทุกต่างชาติ 5,000 คน ที่ต้องการเข้ามาทำงานที่สหราชอาณาจักร ซึ่งสามารถทำได้จนถึงวันที่ 24 ธันวาคมนี้

ขณะเดียวกันก็จะอนุญาตให้วีซ่าชั่วคราวกับพนักงานต่างชาติที่ต้องการทำงานในโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกอีก 5,500 คน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีวิกฤตขาดแคลนแรงงานที่ส่งผลกระทบไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมแล้ว แต่ “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่า วิกฤตดังกล่าวถือว่าเป็นผลกระทบในช่วงแรกของ “เบร็กซิต” เท่านั้น และสถานการณ์ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว จึงเชื่อว่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้น

และจอห์นสันยังระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการให้ธุรกิจยกเลิกการว่าจ้างงานแรงงานต่างชาติ เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูกกว่า และหันมาเน้นการจ้างงานคนในประเทศแทน

อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบออกมาโต้แย้งว่า มาตรการต่าง ๆ ตอนนี้ของรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ปัญหานี้ส่อลากยาว เนื่องจากไม่มีแรงงานที่ขาดแคลน โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุกในประเทศที่เพียงพอ

“ฮานนาห์ เอสเสกซ์” ประธานหอการค้าอังกฤษ กล่าวว่า การที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้ทำให้หลากหลายธุรกิจในประเทศเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน หลังจากไม่สามารถหาแรงงานภายในประเทศได้

โดยเอสเสกซ์ระบุด้วยว่า หลายธุรกิจพร้อมที่จะสนับสนุนความต้องการของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้แรงงานมีรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาแรงงานที่ทักษะขั้นสูงมากขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมเดียวไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“รัฐบาล และธุรกิจต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อวางแผนพัฒนาแรงงานในอนาคต ซึ่งแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะยาว แต่หากยังเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างมาก” เอสเสกซ์กล่าว