ทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยกับมุมมองไทยแลนด์ 4.0

ในงานประกาศรางวัลองค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่นของหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยประจำปี 2017 “AMCHAM CSR Excellence Recognition Award 2017” เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนมาตรฐานการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชนและความเป็นหุ้นส่วนสู่อนาคต ปีนี้มีการมอบรางวัลพิเศษให้กับบริษัทที่ริเริ่ม

โปรเจ็กต์ซีเอสอาร์ ซึ่งสนับสนุนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งบริษัท “ดาว เคมีคอล” ได้รับรางวัลนี้ไปครอง และในโอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย “กลิน ที. เดวีส์” ซึ่งกล่าวถึงงานนี้ว่า เป็นงานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบริษัทอเมริกันที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และได้มีการคืนประโยชน์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ผ่านโปรเจ็กต์เพื่อสังคมต่าง ๆ

นอกจากนี้ท่านทูตยังได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงทิศทางความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” อันเป็นความหวังใหม่ของรัฐบาลไทย

Q : มุมมองการลงทุนของสหรัฐอเมริกาต่อไทย 

การลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเรียกได้ว่าแข็งแรงมาก ๆ เราถือว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย ถ้าพูดถึงนักลงทุนนอกเอเชียที่ลงทุนเยอะที่สุดในไทย ก็คือ สหรัฐอเมริกา เรามาลงทุนที่นี่เพราะรู้ดีว่าผู้คนในประเทศนี้มีพรสวรรค์ ทำงานหนัก ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางอาเซียน หลาย ๆ เจเนอเรชั่นที่ผ่านมา

สหรัฐและไทยได้ร่วมมือด้านธุรกิจและการค้า และในปีหน้า จะเป็นการครบรอบ 200 ปี ความสัมพันธ์ด้านการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ไทยและประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

Q : ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 200 ปีจะมีโปรเจ็กต์พิเศษอะไร

ปีหน้าเราจะพูดถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าที่เริ่มตั้งแต่ในปี 1819 และเมื่อผ่านมา 10 เจเนอเรชั่นแล้ว ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แกร่งขึ้น และมีความสำคัญอย่างไรต่อสหรัฐบ้าง ปีหน้าเราจะมีการจัดนิทรรศการใหญ่ที่พระบรมมหาราชวัง เป็นการจัดแสดงของขวัญจากกษัตริย์ไทยที่ทรงประทานให้แก่ประธานาธิบดีสหรัฐ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา คือเป็นของขวัญนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รวมถึง รัชกาลที่ 9 ด้วย

Q : สหรัฐจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างไร

ผมคิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นไอเดียและการริเริ่มที่เยี่ยมมาก ทางสหรัฐอเมริกาสนับสนุนในความคิดนี้และอยากให้ความช่วยเหลือ เราอยู่ระหว่างการพูดคุยกับรัฐบาลไทยว่ามีอะไรบ้างที่เราจะช่วยได้ หลาย ๆ บริษัทในไทยได้ริเริ่มบางอย่างไปบ้างแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0 นี่คือก้าวต่อไปของประเทศ เพราะประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจมาแล้วในคน 2 เจเนอเรชั่นที่ผ่านมา

ซึ่งความสำเร็จนั้นมาจากความสามารถ และพลังของคนไทย และตอนนี้ในศตวรรษ 21 ถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญในการย้ายจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล และสหรัฐเชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถทำได้สำเร็จ และเราต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย