“เทนเซนต์” ยักษ์เอเชียรายแรก ติดท็อป 5 บริษัทใหญ่ของโลก

บริษัท เทนเซนต์ Tencent

บริษัทเทคโนโลยีของจีนสร้างชื่อเสียงขึ้นมาเทียบชั้นบริษัทจากตะวันตก และมีพัฒนาการยกระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ เมื่อไม่นานมานี้ คนทั่วโลกคุ้นหูกับชื่อ “อาลีบาบา” ของ แจ็ก หม่า มากที่สุด หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และทำสถิติหุ้นไอพีโอที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในการซื้อขายวันแรก

ล่าสุดนี้บริษัทไอทีจากจีน อย่าง “เทนเซนต์” (Tencent) ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในนามผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย “วีแชท” (WeChat) ดูเหมือนทำสถิติฮือฮายิ่งกว่าอาลีบาบา ในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย 2 สถิติด้วยกัน

โดยในวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน ทำสถิติเป็นบริษัทเอเชียรายแรกที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เกิน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับมาร์เก็ตแคปของ “เฟซบุ๊ก” เมื่อราคาหุ้นของเทนเซนต์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ราคาพุ่งขึ้นไปอยู่ที่หุ้นละ 420 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 53.76 ดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้มูลค่าโดยรวมไปอยู่ที่ 3.99 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 5.107 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อปิดตลาด ส่วนเฟซบุ๊กอยู่ที่ 5.2014 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อเมซอน 5.4446 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและมาร์เก็ตแคปของเทนเซนต์ยังมากกว่าบริษัทอีคอมเมิร์ซ อาลีบาบา ซึ่งอยู่ที่ 4.7415 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถัดจากการทำสถิติเป็นบริษัทเอเชียรายแรกที่มาร์เก็ตแคปเกิน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว เทนเซนต์ยังทำสถิติใหม่ในวันที่ 21 พฤศจิกายน เมื่อราคาหุ้นขยับขึ้นไปเป็น 439.6 ดอลลาร์ฮ่องกง ทำสถิติใหม่ในช่วงระหว่างชั่วโมงซื้อขาย ทำให้มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นไปที่ 5.345 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแซงเฟซบุ๊ก ซึ่งอยู่ที่ 5.194 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้เทนเซนต์กลายเป็นบริษัทเอเชียรายแรกที่ติดท็อป 5 บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยอันดับหนึ่งเป็นของแอปเปิล ตามมาด้วยอัลฟาเบต (บริษัทแม่กูเกิล) ไมโครซอฟท์ อเมซอน และเทนเซนต์ หลังจากที่เขี่ยเฟซบุ๊กตกไปเทนเซนต์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อปี 2547 ด้วยราคาหุ้นละ 3.70 ดอลลาร์ฮ่องกง จากนั้นราคาเพิ่มขึ้นกว่า 11,000% เฉพาะปีนี้ราคาปรับขึ้นแล้ว 126.69%

ธุรกิจหลักของเทนเซนต์มีทั้ง “วีแชท” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบออล-อิน-วัน ให้บริการทั้งแชตและจ่ายเงินออนไลน์ มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1,000 ล้านราย และเกมบนสมาร์ทโฟนที่เทนเซนต์เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทซูเปอร์เซลล์ของฟินแลนด์ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเกมยอดนิยม “แคลช ออฟ แคลนส์” ซึ่งเฉพาะไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธุรกิจกลุ่มนี้สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 67% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่แต่เทนเซนต์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักนอกประเทศจีนมากนัก โดยเฉพาะในอเมริกา ดังนั้นเทนเซนต์จึงพยายามขยายธุรกิจออกนอกประเทศ โดยได้เข้าลงทุนในบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถไฟฟ้า และสแนป (Snap) โซเชียลมีเดียชื่อดังในสหรัฐ ทั้งยังเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพหลายกิจการในเอเชีย หนึ่งในนั้นคือ “โอลา” ในอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งอูเบอร์

นักวิเคราะห์มีมุมมองเป็นบวกต่อเทนเซนต์ โดยบาร์เคลย์ปรับราคาเป้าหมายของเทนเซนต์จาก 49 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 59 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะรายได้โฆษณา รวมทั้งจากโมบายเกมจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง การจัดวางกลยุทธ์ธุรกิจที่จะสร้างรายได้อย่างหลากหลาย

ในสนามของตลาดจ่ายเงินออนไลน์ “วีแชทเพย์” กับ “อาลีเพย์” ของอาลีบาบา ต่างแข่งกันขยายตลาดในระดับโลก

แม้ว่าขณะนี้บริการจะจำกัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันอาลีเพย์ให้บริการใน 34 ประเทศ และวีแชทเพย์ ให้บริการใน 13 ประเทศ

แต่นักวิเคราะห์มองว่าทั้งสองบริษัทมีเป้าหมายต่างกัน โดยอาลีเพย์ต้องการสร้างระบบจ่ายเงินระดับโลก แต่วีแชทเพย์เพียงต้องการเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการ (ทราฟฟิก) วีแชทมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้โฆษณา