วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก ดันต้นทุนสินค้าพุ่ง-ทุบซ้ำจีดีพี

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 มีอันต้องเผชิญอุปสรรคหนัก ๆ ซ้ำซ้อน จนเสี่ยงจะกระทบต่ออัตราการเติบโต กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ลง จาก 6% เหลือ 5.9%

โดยในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (จี-7) ปรากฏว่า สหรัฐอเมริกาถูกปรับลดมากที่สุด 1% จาก 7% เหลือ 6% โดยสาเหตุสำคัญมาจาก “ปัญหาด้านซัพพลาย” และโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่อยู่นอกกลุ่มจี-7 ถูกปรับลดเพียง 0.1% จาก 8.1% เหลือ 8% พร้อมกันนี้ได้เตือนถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย

“มูดีส์ อนาไลติกส์” บริษัทภายใต้มูดีส์ กรุ๊ป ออกมาเตือนว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังจะแย่กว่าเดิม เพราะตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดอย่างรุนแรง ทั้งขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ ปัญหาท่าเรือคับคั่ง ขาดแคลนแรงงาน คนขับรถบรรทุก เป็นต้น ซึ่งจะผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าลง “โชคไม่ดีเสียเลย ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าจะถูกขัดขวางด้วยปัญหาห่วงโซ่อุปทาน”

การควบคุมพรมแดนและจำกัดการเคลื่อนที่ การที่ทั่วโลกไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่อั้นมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันแล้ว กลายเป็น “เพอร์เฟ็กต์สตอร์ม” ซึ่งจะทำให้การผลิตทั่วโลกชะงัก ส่งผลให้ต้นทุนและราคาสูงขึ้น สุดท้ายจีดีพีโลกจะไม่เติบโตคึกคัก

ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้ปัญหาด้านซัพพลายในระยะข้างหน้ามีความท้าทายเป็นพิเศษ เช่น ความแตกต่างในการจัดการปัญหาโควิด-19 ของแต่ละประเทศ โดยกรณีของจีนนั้น ตั้งเป้าหมายจะต้องกำราบโควิดให้เหลือ “ศูนย์”

แต่สหรัฐอเมริกามีความเต็มใจจะอยู่ร่วมกับโควิดในฐานะโรคประจำถิ่น ความแตกต่างนี้จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ สอดคล้องกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายคนงานเข้าและออกจากท่าเรือและฮับต่าง ๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ การขาดความร่วมมือกันในระดับโลกเพื่อรับประกันความราบรื่นของเครือข่ายโลจิสติกส์และขนส่งทั่วโลก เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม “เจมี ไดมอน” ซีอีโอของเจพีมอร์แกนเชส กลับเห็นตรงข้าม โดยเชื่อว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานจะบรรเทาลงอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้ไปถึงจุดเลวร้ายสูงสุดแล้ว เชื่อว่าระบบตลาดที่ยิ่งใหญ่จะปรับตัวได้เอง

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาวิกฤตพลังงานจนทำให้ราคาน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติถีบตัวสูงในขณะนี้ จะทำให้บริษัททั่วโลกมีกำไรลดลง โดยริชาร์ด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา IMA เอเชีย ชี้ว่าราคาพลังงานที่สูงจะเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น ส่วนต่างกำไรลดลง ซึ่งน่าจะปรากฏให้เห็นในผลประกอบการไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาส 1 ปีหน้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทอินเดียและจีน มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบสูงกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะบริษัทอเมริกันซึ่งตลาดผู้บริโภคเติบโตคึกคัก สามารถขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนได้เร็วกว่า ส่วนอีกหลายประเทศรวมทั้งจีนและอินเดีย ตลาดไม่คึกคักเท่าสหรัฐ ดังนั้น การจะขึ้นราคาสินค้าทำได้ยากกว่า

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เตือนว่า ราคาพลังงานมีความเสี่ยงจะผันผวนปั่นป่วนมากขึ้น เพราะมีการลงทุนด้านพลังงานในอนาคตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดไร้มลพิษไม่มีความแน่นอน นโยบายและความต้องการของตลาดที่ไม่แน่นอนคือส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้การลงทุนพลังงานในอนาคตต่ำ ราคาพลังงานที่สูงอย่างที่เป็นอยู่จะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคและภาคธุรกิจ จนกระทบเศรษฐกิจโดยรวม

ไออีเอชี้ว่า โลกจำเป็นต้องลงทุนพลังงานสะอาด 4 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ในปี 2050