ทำไมชาวอเมริกัน แห่ลาออกจากงาน

ผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เมื่อเดือนสิงหาคม รายงานว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้ลาออกจากงานมากถึง 4.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นแรงงาน 2.9% จากทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่เดือนธันวาคมของปี 2000

ทั้งนี้ มีแรงงานลาออกเพิ่มมากขึ้น ในอุตสาหกรรมบริการที่พัก และอาหาร, อุตสาหกรรมการค้าส่ง รวมถึงภาคการศึกษาในระดับท้องถิ่น และรัฐ

โดยในอุตสาหกรรมบริการที่พักและอาหาร พบว่ามีแรงงานลาออกมากถึง 892,000 คน ขณะเดียวกัน แรงงานในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้ลาออกราว 721,000 คน และยังมีแรงงานในอุตสาหกรรมการบริการสุขภาพ และความช่วยเหลือทางด้านสังคม ที่ได้ลาออกจากงานกว่า 534,000 คน

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้มีแรงงานที่ลาออกจากงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวอเมริกันสามารถเรียกร้องเงินค่าจ้างที่สูงขึ้น สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงช่วงเวลาและสถานที่การทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น

“โจ บรูซูเอลาส” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากบริษัทที่ปรึกษาอาร์เอสเอ็ม กล่าวว่า ตอนนี้อาจจะถือเป็นช่วงเริ่มต้นของ “ยุคทองของแรงงานชาวอเมริกัน” ก็ว่าได้

โดยบรูซูเอลาสให้เหตุผลว่า ตอนนี้แรงงานชาวอเมริกันมีความมั่นใจมากพอว่า เขาหรือเธอ จะมีอำนาจในการต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าจ้างที่ต้องการ รวมถึงมีอิทธิพลในการเลือกสภาพแวดล้อมสำหรับการทำงาน

ทั้งนี้ อำนาจการต่อรองดังกล่าว มาจากเทรนด์ของแรงงานทั่วประเทศที่เต็มใจในการลาออกงานที่ไม่ชอบ เพื่อหางานใหม่

โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐศาสตร์ของประเทศ แต่เป็นการที่แรงงานแต่ละคน หันมาใส่ใจคุณภาพชีวิต รวมถึงเป้าหมายในการใช้ชีวิตเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“นี่คือสิ่งที่ปกติมักจะเกิดขึ้น ช่วงหลังสงคราม และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” บรูซูเอลาสกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าเราอยู่ในปรากฏการณ์นี้ กับตลาดแรงงานของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง และในอนาคตมีแนวโน้มที่แรงงานจะลาออกเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน “เอลีส กูลด์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันอีโคโนมิกส์ โพลิซี อินสทิทูท (EPI) กล่าวว่า อัตราการลาออกได้พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้คนกังวลกับการทำงานช่วงที่โรคยังระบาดอย่างหนัก และจึงเลือกที่จะทำงานซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการติดเชื้อ

ส่วน “คริส รุพคีย์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทวิจัยเอฟดับบลิวดีบอนดส์ ระบุว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นภายในประเทศตอนนี้ ไม่ใช่แค่เพราะว่าผู้ปกครองต้องลาออกจากงานเพราะมีปัญหาด้านการดูแลลูก หรือไม่สามารถไปทำงานเนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าระบาดอย่างหนัก เหมือนช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้

แต่ทว่าเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีความต้องการแรงงานสูงมาก

ดังนั้นจึงทำให้ตัวเลขแรงงานลาออกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากแรงงานมั่นใจว่าจะสามารถหางานทำที่พึงพอใจทั้งด้านค่าจ้าง สวัสดิการ รวมทั้งสภาพแวดล้อมของการทำงานได้

เหตุผลดังกล่าวช่วยอธิบายได้มากขึ้นว่า ทำไมนายจ้างทั้งโรงงาน บริษัทขับรถบรรทุก ไปจนถึงร้านอาหาร บริษัทก่อสร้าง และสถานศึกษา ถึงมีปัญหาในการหาแรงงานอย่างมาก

รายงานข่าวระบุว่า ในระยะยาวการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานนี้จะถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้ประชาชนสามารถหางานในสายอาชีพที่ตัวเองพึงพอใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริษัทและธุรกิจต่าง ๆ ก็จะมีแรงงานที่มีความสุขในงานที่ตัวเองทำ

นอกจากนี้ยังจะทำให้แรงงานแต่ละคนมีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย และคนจนลงได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ภาวะขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะทำให้กระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น และปัญหานี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น ซัพพลายเชนมีปัญหา เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่ล่าช้า

ขณะเดียวกัน ทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็กำลังจับตาตัวเลขการลาออกจากงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นหนึ่งในปัจจัยสำหรับการผ่อนปรนนโยบายต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือการประคองเศรษฐกิจช่วงที่โควิด-19 ระบาด


อย่างไรก็ตาม เฟดยังยืนยันว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าตลาดแรงงานจะกลับสู่สภาวะปกติมากกว่าตอนนี้