ความต้องการ “ถ่านหิน” พุ่ง “อินโดฯ” ได้อานิสงส์จีนขาดแคลน

ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะ “จีน” ที่ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก ส่งผลให้ความต้องการพลังงานสูงขึ้น กลายเป็นผลดีต่อบริษัทถ่านหินสำหรับการผลิตพลังงาน กลับมาเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนอีกครั้ง

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ความต้องการถ่านหินเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตพลังงานในหลายประเทศโดยเฉพาะในจีน ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทถ่านหินในภูมิภาคพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานในจีน ช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะบริษัทถ่านหินของ “อินโดนีเซีย” ที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตครั้งนี้ โดยจะเห็นได้จากบริษัทผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อย่าง “บูมี รีซอร์เซส” (Bumi Resources) ที่มีราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นกว่า 70% จากช่วงปลายเดือน ส.ค. เช่นเดียวกับ “อะดาโร เอเนอร์จี” (Adaro Energy) ที่เพิ่มขึ้น 50% และ “อินดิกา เอเนอร์จี” (Indika Energy) เพิ่มขึ้นถึง 74% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2020 อินโดนีเซียส่งออกถ่านหินเกือบ 400 ล้านตัน หรือราว 40% ของปริมาณการส่งออกถ่านหินทั่วโลก

นอกจากนี้ ผู้ผลิตถ่านหินในหลายประเทศก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน อย่าง “หยานโคล ออสเตรเลีย” (Yancoal Australia) บริษัทถ่านหินออสเตรเลีย ในเครือ “หยานโจว โคล ไมนิ่ง” (Yanzhou Coal Mining) ของจีน ราคาหุ้นพุ่งขึ้นถึง 80% จากเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ “อินเดีย” แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ความต้องการภายในประเทศก็สูงมากเช่นกัน และในขณะนี้ยังมีความเสี่ยงที่ปริมาณถ่านหินสำรองจะไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทำให้บริษัทถ่านหินรายใหญ่อย่าง “โคล อินเดีย” (Coal India) มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นราว 30%

ขณะเดียวกัน ราคาถ่านหินก็เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากราคาในช่วงต้นปี 2021 โดยราคามาตรฐานของถ่านหินเชื้อเพลิงในเอเชียแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 269 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากวิกฤตพลังงานในจีนแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอีก

นอกจากนั้น ราคาถ่านหินที่สูงขึ้นยังเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาด ทำให้หลายประเทศในยุโรปที่หันมาใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานมากขึ้น เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ถึง 1 ใน 3

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการถ่านหินจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ “โนบุยูกิ คุนิโยชิ” นักวิเคราะห์ของบรรษัทน้ำมัน ก๊าซและโลหะแห่งชาติของญี่ปุ่น “จ๊อกเม็ก” (JOGMEC) มองว่า ผู้ผลิตถ่านหินยังคงหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินเพิ่มเติม จากความเสี่ยงที่ราคาถ่านหินอาจลดต่ำลงในระยะยาว

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมถ่านหินได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากประชาคมโลกที่ต่างออกกฎระเบียบควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำลายสภาพอากาศและหันไปส่งเสริมพลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ ระมัดระวังในการลงทุนทำเหมืองถ่านหินใหม่

“จัสเตียน รามา” นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ “ซิตี้กรุ๊ป ซิเคียวริตีส์” คาดว่า ราคาถ่านหินจะสูงกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ และภาวะขาดแคลนในปัจจุบันจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีแหล่งพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีความต่างด้านราคามากจนเกินไป