เจ้าชายวิลเลี่ยม มอบรางวัลสิ่งแวดล้อม “Earthshot” ทีมจากไทยได้ด้วย

PHOTO : Alberto Pezzali, pool : AP /

เปิดรายชื่อ 5 ทีม ที่ได้รับรางวัล “Earthshot” รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมของเจ้าชายวิลเลี่ยม มีจากประเทศไทยด้วย คนชนะได้เงิน 1 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 45 ล้านบาท

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 บีบีซีรายงานว่า กองทุนรอยัล เฟาน์เดชัน (Royal Foundation) องค์กรการกุศลของเจ้าชายวิลเลี่ยม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ รัชทายาทลำดับ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ และแคเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชายา ได้จัดงานประกาศรางวัลเอิร์ธช็อต (Earthshot) รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเพื่อจูงใจให้ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและซ่อมแซมโลกซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี จำนวน 5 รายการ เมื่อค่ำคืนวันอาทิตย์ (17 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ที่พระราชวังอเล็กซานดรา ในกรุงลอนดอน

PHOTO : Alberto Pezzali, pool : AP /

 

รางวัล “Earthshot” ก่อตั้งโดย เจ้าชายวิลเลี่ยม โดยล้อกับชื่อโครงการ Moonshot ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงยุค 60 ที่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในตอนนั้นให้คำมั่นว่าจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ให้ได้ภายใน 1 ทศวรรษ ซึ่งรางวัล Earthshot เพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศโลกปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 ปี โดยผู้ชนะแต่ละรายการได้รับเงิน 1 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 45 ล้านบาท

 

PHOTO : Alberto Pezzali, pool : AP /

ในการประกาศรางวัลครั้งนี้ มีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงาน อาทิ เอ็มมา วัตสัน, เดม เอ็มมา ทอมป์สัน, เดวิด โอเยโลโว เอ็ด ชีแรน, ดาเนียล อัลวีส นักฟุตบอลชาวบราซิล, รวมถึงเยมิ อาเลเด นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง ทุกคนที่เข้าร่วมงาน ไม่มีคนใดที่เดินทางมายังกรุงลอนดอนด้วยเครื่องบิน อีกทั้งในงานไม่มีการใช้พลาสติกในการสร้างเวทีและมีการปั่นจักรยานกว่า 60 คันเพื่อผลิตไฟฟ้าแทน

PHOTO : Alberto Pezzali, pool : AP /

ผู้ได้รับรางวัล 5 รายการ

ปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ (Protect and Restore Nature:)

สาธารณรัฐคอสตาริกา : เป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเคลียร์พื้นที่ป่าเกือบทั้งหมด แต่ตอนนี้ได้เพิ่มจำนวนต้นไม้เป็นสองเท่า และถูกมองว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติตาม

ทำความสะอาดอากาศของเรา (Clean our Air)

บริษัท ทาคาชาร์ (Takachar) จากประเทศอินเดีย : ผู้พัฒนาอุปกรณ์พกพาที่เปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้เป็นปุ๋ย กับเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรหยุดเผาไร่นากำจัดเศษซากผลผลิตทางการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ฟื้นฟูมหาสมุทร (Revive our Oceans) 

โครงการโครอลวิตา จากประเทศบาฮามาส ที่ดำเนินการโดยเพื่อนรักสองคน ที่ร่วมกันปลูกปะการังในบาฮามาสเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่กำลังจะสูญหายไปจากโลก และด้วยถังพิเศษที่พัฒนาขึ้น ทำให้ปะการังเหล่านี้เติบโตได้เร็วกว่าปกติถึง 50 เท่า

สร้างโลกที่ปราศจากขยะ (Build a Waste-Free World)

เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมืองศูนย์กลางขยะจากอาหาร เปลี่ยนความท้าทายของอาหารเหลือทิ้งด้วยการให้ธุรกิจร้านอาหารมีส่วนร่วมในการบริจาคอาหารที่เหลือจากการขายและนำไปมอบให้ผู้ยากไร้ นอกจากช่วยลดขยะอาหารแล้ว ยังช่วยแก้วิกฤตความหิวโหยได้ด้วย

แก้ไขสภาพอากาศ (Fix our Climate)

เครื่องผลิตไฮโดรเจน ทีมเออีเอ็ม อิเล็กทรอไลเซอร์ (AEM Electrolyser) เป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย, เยอรมนี และอิตาลี ต่อการออกแบบที่ชาญฉลาดด้วยการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฮโดรเจน โดยแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน แทนที่การผลิตก๊าซไฮโดรเจนแบบทั่วไปซึ่งนิยมผลิตด้วยการเผาเชื้อเพลิงถ่านหิน


โดยคณะกรรมการระบุว่า เป็นความคิดอันชาญฉลาดในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างไฮโดรเจน ด้วยการแยกส่วนน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน