โลกขาดแคลนแรงงาน ซ้ำเติมห่วงโซ่อุปทาน-เศรษฐกิจ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อเริ่มแรกที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง มันทำลายเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าทำให้คนทั่วโลก “ตกงาน” มหาศาล แต่สถานการณ์ในขณะนี้กลับดูเหมือนตรงข้าม หลังจากชาติเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลกเร่งฉีดวัคซีนจนสามารถเปิดเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ความต้องการของผู้บริโภคพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอั้นมานาน จนภาคการผลิตปรับตัวรองรับไม่ทัน สุดท้ายก็เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานสะดุด

“แรงงาน” คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้คือการขาดแคลนแรงงาน เพราะถึงแม้จะมีการเปิดรับตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่ง แต่กลายเป็นว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถหาแรงงานได้ ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างกังวล เพราะสถานการณ์เช่นนี้ซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

กล่าวได้ว่าทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลกในขณะนี้

นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของประชากร อย่างเช่น ประชากรอายุมากขึ้น การเกษียณก่อนกำหนด การควบคุมพรมแดน การจำกัดผู้อพยพ ตลอดจนความต้องการจะได้รับค่าจ้างสูงขึ้น หรือต้องการเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่น

ตัวอย่างเช่นในอเมริกา ข้อมูลแรงงานล่าสุด บ่งชี้ว่าหลังโควิดคลี่คลายและเปิดเศรษฐกิจ มีแรงงานจำนวนมากเต็มใจจะทิ้งงานเดิมหรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำงานอื่น โดยในเดือนสิงหาคมปีนี้มีตำแหน่งงานเปิดรับ 10.4 ล้านตำแหน่ง แต่กลับมีจำนวนผู้ออกจากงาน 4.3 ล้านตำแหน่ง เป็นอัตราทิ้งงานสูงสุดนับจากเดือนธันวาคมปี 2000 ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือที่อยู่อาศัยและบริการอาหาร

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไอเอ็นจี ระบุว่า แม้การระบาดของโควิด-19 จะขับเน้นให้เห็นสภาพการขาดแคลนแรงงานทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และยูโรโซน แต่แท้จริงรากเหง้าของปัญหาเกิดขึ้นก่อนมีโควิด-19 การขาดแรงงานที่มีทักษะไม่ใช่แค่อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังการล็อกดาวน์เศรษฐกิจ แต่ยังเป็นผลของพัฒนาการเชิงพื้นฐานในประเทศเหล่านี้ โดยกรณีของอเมริกา ซึ่งเศรษฐกิจกลับมาเติบโตเต็มที่ ชดเชยสิ่งที่เสียไปในช่วงการระบาดได้ทั้งหมด มีการเปิดรับสมัครงานมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งทั่วทุกภาคส่วน พร้อมกับที่บรรดานายจ้างขึ้นค่าจ้างเพื่อจูงใจ แต่ปรากฏว่ายังขาดแคลนแรงงาน ทำให้การผลิตสินค้าและบริการเป็นไปอย่างจำกัดและเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ

คำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับกรณีของอเมริกาก็คือ บรรดาครัวเรือนออมเงินมากขึ้นและไม่มีความจำเป็นต้องรีบกลับไปทำงาน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นน่าจะเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อาจทำให้การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาถาวรก็เป็นได้โดยทีมของไอเอ็นจีเชื่อว่า คนทำงานสูงวัยจำนวนมากพากันเกษียณก่อนกำหนด การกลับไปทำงานออฟฟิศสำหรับหลายคนไม่น่าพึงพอใจอีกต่อไป เพราะว่าตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นมาก ทำให้ผลตอบแทนเงินบำนาญเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นมาก การเกษียณก่อนกำหนดจึงเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจมากกว่า นอกจากนี้การปิดพรมแดนทำให้จำนวนผู้อพยพลดลง อัตราการเกิดต่ำ ย่อมหมายถึงมีคนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง

“หากข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้อง การขาดแคลนแรงงานอาจเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดไว้ สภาวะเช่นนี้จะบีบให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ ต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อรักษาคนงานเอาไว้ นั่นหมายถึงว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมากขึ้น
จนเฟดอาจต้องตอบสนองด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด”

ส่วนกรณีของสหราชอาณาจักร การขาดแคลนแรงงานถูกซ้ำเติมโดยเบร็กซิต เมื่อโควิดระบาด คนงานต่างชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญพากันเดินทางกลับประเทศ ขณะเดียวกันเงื่อนไขการออกวีซ่าให้กับแรงงานต่างชาติหลังเบร็กซิต ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับคนงานสหภาพยุโรปที่จะทำงานในสหราชอาณาจักร ดังนั้นก็เป็นเรื่องยากอย่างถาวร สำหรับบริษัทต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักรที่จะจัดหาแรงงานจากต่างประเทศ

สหราชอาณาจักรก็เหมือนยุโรป กล่าวคือ กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นกัน โดยที่ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลของมันจะเป็นแบบเดียวกับสหรัฐคือ ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ