“กรีนมันนี” เมื่อธุรกิจทั่วโลก ต้องจริงจังกับภาวะโลกร้อน

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ประชุมสุดยอดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 กำลังดำเนินอยู่ในเมืองกลาสโกว สหราชอาณาจักร

เป้าหมายก็เพื่อกำหนดข้อปฏิบัติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป้าหมายก็เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เป็น “หายนะ” ต่อมนุษยชาติ

ข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว ไม่เพียงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเพราะระยะเวลาที่หลงเหลือให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวกระชั้นสั้นเข้ามาทุกที

ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องนี้ยังผูกพันกับทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่รัฐบาลจนถึงองค์กรธุรกิจ และสามัญชนทั้งหลาย ที่ต้อง “จริงจัง” มากขึ้นและ “รีบเร่ง” มากขึ้น ในการกำหนดพฤติกรรมของตนเพื่อการนี้

กลุ่มธุรกิจจำนวนหนึ่งตระหนักในเรื่องนี้ และเริ่มต้นดำเนินขั้นตอนเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการเฉพาะกิจว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (TCFD) ที่เป็นการรวมตัวของผู้นำองค์กรธุรกิจในกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจสำคัญ 20 ประเทศ หรือ จี20 ที่กำหนดให้องค์กรธุรกิจทั้งหลายต้องเปิดเผยข้อมูลของตนเองที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ทั้งแผนยุทธศาสตร์และแผนการทางการเงิน ตั้งแต่ปี 2025 นี้เป็นต้นไป

ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็มี “เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืน” หรือ “เอสเอฟดีอาร์” ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้การลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนเคลื่อนตัวไปสู่ “เศรษฐกิจที่ยั่งยืน” และ คณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี) ของสหรัฐอเมริกา ก็เตรียมประกาศข้อบังคับให้ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาด ต้องเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติการที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม, สังคมและบรรษัทภิบาล ที่รวมเรียกว่า “อีเอสจี” (ESG) ในปีนี้

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อีกกลุ่ม ภายใต้การสนับสนุนของ “จอห์น แคร์รี” ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของรัฐบาลสหรัฐ รวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มเรียกตัวเองว่า “พันธมิตร เฟิร์สต์ มูฟเวอร์” ที่ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงอย่างเป็นรูปธรรมและมีกรอบเวลาชัดเจน ภายใต้ “สโคป3” (SCOPE 3) อีกด้วย

“สโคป3” ไม่ได้เป็นการตั้งเป้าให้ครอบคลุมการดำเนินการของบริษัทตนเองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการดำเนินการของกิจการในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เรื่อยไปจนถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น “โฮลซิม” ผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม “สโคป3” ลงให้ได้มากถึง 90% ภายในปี 2050

สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทธุรกิจจำนวนมากไม่ได้ยึดถือภาวะโลกร้อนเป็นเพียงกลยุทธ์ “พีอาร์” อีกต่อไป หากแต่จริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น จนกลายเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนขึ้น

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งบอกว่า เป็นเพราะกิจการเหล่านี้กำลัง “ได้กลิ่น” เม็ดเงิน “กรีนมันนี” ที่เป็นแรงจูงใจให้กิจการปรับตัวสู่ความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นก็กลายเป็นแรงผลักดันให้ แนวทางการดำเนินงาน การบริหารจัดการที่ยั่งยืน ขยายตัวออกไปมากขึ้นตามลำดับ

ความรุนแรงของปัญหาโลกร้อน ที่สะท้อนชัดเจนมากขึ้น ในรูปของไฟป่า, น้ำท่วม, พายุรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็กลายเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความจริงจังและเร่งด่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ

การประกาศพันธะต่อสภาวะแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดสวยหรูอีกต่อไป แต่ต้องตามมาด้วยการปฏิบัติจริง ความคิดริเริ่มที่แท้จริงอีกด้วย

เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประกาศพันธะผูกพันเหล่านี้ออกมา สังคมไม่เพียงจับตามองนิ่งเฉยอีกต่อไป แต่ยังจะตรวจสอบ และพิสูจน์การกระทำของบริษัทอย่างเคร่งครัด ถี่ยิบมากขึ้น

นักลงทุนยิ่งจะเรียกร้องการดำเนินการในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น แลกกับเม็ดเงินลงทุน


ในหลายประเทศที่กระแสเรียกร้องรุนแรง เริ่มปรากฏให้เห็นว่า พันธะผูกพันในกิจการบริษัทต่อภาวะโลกร้อน เริ่มส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มปฏิเสธที่จะทำงานกับกิจการที่ “ไม่ยั่งยืน” ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปรับตัว พลิกโฉมธุรกิจให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน ยิ่งทำได้เร็วมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ “ความเสี่ยง” ของกิจการ กลายเป็น “โอกาส” ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น