ผลวิจัยเผย ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อปัญหาความยั่งยืน

ผลวิจัยเผย ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อปัญหาความยั่งยืน
ภาพจาก pixabay

Mintel เผยผู้บริโภคทั่วโลกต้องการให้บริษัทผู้ผลิตมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาด้านความยั่งยืน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Mintel Consulting เผยผลการวิจัยล่าสุดจาก Mintel Sustainability Barometer ว่า ผู้บริโภคทั่วโลกเชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องแสดงความรับผิดชอบมากที่สุดสำหรับต้นตอของปัญหาความยั่งยืนในหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมองว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

ผู้บริโภคทั่วโลกเกือบครึ่ง (48%) เชื่อว่า ผู้ผลิตควรจะแสดงความรับผิดชอบในเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคหนึ่งในสี่ (25%) เชื่อว่า ความรับผิดชอบเป็นของผู้บริโภค และอีกหนึ่งในห้า (20%) เชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล

ในส่วนประเด็นเรื่องการลดมลพิษจากการขนส่งทางอากาศนั้น สองในห้า (41%) ของผู้บริโภคทั่วโลกเชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ โดย 36% เชื่อว่าเป็นเรื่องของนโยบายรัฐ และอีก 12% มองว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกว่าครึ่ง (54%) เชื่อว่า ตนเองยังมีเวลาเหลือพอที่จะช่วยรักษาโลกใบนี้ โดย 51% เชื่อว่าพฤติกรรมของตนเองสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ดีขึ้น ทัศนคติเหล่านี้มีมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวแคนาดา (65%) ชาวอิตาลี (64%) ชาวเยอรมันและชาวสเปน (59%) และชาวอังกฤษ (56%)

เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องความยั่งยืนชุดใหม่อย่าง Mintel Sustainability Barometer รวบรวมผลการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกในเรื่องทัศนคติ พฤติกรรมและความชอบในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคใน 16 ประเทศทั่วโลก พร้อมข้อเสนอและคำแนะนำที่เหมาะสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรมในระดับชั้นนำ โครงการสื่อสารที่น่าสนใจ และแคมเปญต่าง ๆ

ริชาร์ด โคป (Richard Cope), Senior Trends Consultant, Mintel Consulting กล่าวว่า จากการศึกษาของ International Energy Agency (IEA) เชื่อว่าการลดปริมาณมลพิษสะสมให้เหลือศูนย์มากกว่าครึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยบางคนอาจหวังว่าผู้บริโภคจะให้การยอมรับในเรื่องความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมองว่าความรับผิดชอบเป็นของผู้ผลิตเสียมากกว่า ซึ่งมีเหตุผลประกอบมากมายว่าทำไมผู้บริโภคถึงโยนภาระเหล่านี้ให้กับบริษัทผู้ผลิต เช่น กลุ่มที่นิยมการประท้วงจะมีชุดความเชื่อที่ว่าบริษัทผู้ผลิตควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาดังกล่าวอยู่นอกเหนือความสามารถที่จะแก้ปัญหาและรับมือในฝั่งของผู้บริโภคได้

“อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริโภคยอมรับว่าตนเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ประชากรเพียงส่วนน้อยในหลาย ๆ ประเทศเชื่อว่าตนเองยังพอมีเวลาที่จะกู้สถานการณ์กลับคืนมาเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ซึ่งการมองโลกในแง่ดีมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับความเชื่อในเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สามารถเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

“การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความยั่งยืนน่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคได้ ในขณะที่ช่องว่างในการพัฒนาความยั่งยืนที่เกิดจากประสบการณ์ที่แตกต่างกันของผู้บริโภคที่มีต่อต้นเหตุของปัญหาสภาวะโลกร้อนกับข้อเท็จจริงที่ว่าใครจะต้องรับผิดชอบปัญหาบ้างนั้น ได้กลายมาเป็นความท้าทายที่สำคัญของบริษัทต่าง ๆ ว่า

บริษัทจะปิดช่องว่างในเรื่องความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการวางจุดยืนของตัวสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา นอกจากนี้บริษัทต่าง ๆ ยังควรเป็นผู้นำในการยืนยันว่าการดำเนินงานของบริษัทตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่ถูกต้องและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

หรือบริษัทอาจจะผนึกกำลังกับภาครัฐ จัดทำแคมเปญที่น่าติดตามเพื่อผลลัพธ์ที่ดีตามมา รวมถึงการเปิดรับฟังแนวคิดปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมจากสารคดีต่าง ๆ เช่น Seaspiracy และ Kiss the Ground ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน”

ผู้บริโภคต้องการให้บริษัทต่าง ๆ วัดผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของตนเอง

ท้ายที่สุด เมื่อผู้บริโภคถูกถามว่า ปัจจัยอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้ซื้อสินค้าหรือบริการที่อ้างว่ามีประโยชน์หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคมักมองหาข้อมูลว่าการใช้จ่ายของตนเองจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงอย่างไรบ้าง เช่น

การปลูกต้นไม้หนึ่งต้นต่อการซื้อหนึ่งครั้ง (48%) โดยผู้บริโภคยังคงมองหาฉลากที่แสดงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา (47%) ขณะที่ผู้บริโภคกว่าสองในห้า (42%) หาข้อมูลที่มีการใช้ระบบวัดผลกระทบที่เข้าใจได้ง่าย เช่น ปริมาณลิตรของน้ำที่ใช้หรือระยะทางที่ใช้ในการเดินทางเป็นกิโลเมตร ในขณะที่ 41% ของผู้บริโภคยังต้องการใบรับรองมาตรฐานที่เชื่อถือได้ เช่น B-Corp*

“ผู้บริโภคต้องการให้บริษัทใช้คำศัพท์และข้อมูลที่เข้าใจง่ายเพื่ออธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมจากการซื้อสินค้า ในขณะที่การทำให้ผู้บริโภคเชื่อในเชิงวิทยาศาสตร์และแปลงความเชื่อนี้ให้เป็นโอกาสการซื้อสินค้าอย่างเป็นรูปธรรมนั้น บริษัทจะต้องตอบสนองความต้องการด้วยการนำเสนอเรื่องราวหรือศัพท์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนแก่ผู้บริโภคในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้เกิดความเชื่อได้”

“นอกจากความต้องการในการรับรองจากองค์กรต่างๆ แล้ว เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคต้องการที่จะทราบว่าการซื้อสินค้าของตนเองจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านใดบ้าง เพื่อที่จะตอกย้ำความเชื่อและความคิดว่าการซื้อสินค้าของตนเองสามารถทำให้เกิดผลพวงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง ความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้คล้ายคลึงกับความท้าทายในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากโภชนาการ ค่อนข้างจะเป็นเหตุผลที่ดีในเรื่องความยั่งยืนในการนำ

“traffic light system” มาประยุกต์ใช้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง เช่น บริษัทเนสท์เล่และซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่จะผนวกข้อความที่สวยงามและเข้าใจง่ายกับเป้าหมายที่ต้องการสื่อโดยได้รับการรับรองจากองค์กรที่สาม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมว่ากรรมวิธีการผลิตต่างๆ นั้น สามารถประเมิน วัดผลและติดตามได้ที่ไหนและอย่างไร” ริชาร์ด กล่าวทิ้งท้าย