เฟซบุ๊ก ปิดระบบจดจำใบหน้า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ?

เฟซบุ๊กปิดระบบจดจำใบหน้า
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

เฟซบุ๊กประกาศปิดระบบจดจำใบหน้า ที่ระบุใบหน้าผู้ใช้งานในภาพถ่ายและวิดีโอ พร้อมแนะนำแท็กอัตโนมัติ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว และข่าวเชิงลบของบริษัท 

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เดอะ การ์เดียน รายงานว่า เมตา บริษัทที่รู้จักอย่างเป็นทางการของเฟซบุ๊ก ประกาศเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า บริษัทจะยุติการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เจอโรม เพเซนที รองประธานฝ่ายระบบปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊ก เผยว่า หนึ่งในสามของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก หรือประมาณ 1,000 ล้านคน จะสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวต่อไปหรือไม่

การเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือเพียงเพราะต้องการผลในแง่ประชาสัมพันธ์ ?

เฟซบุ๊กใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอย่างไร ?

เมื่อผู้ใช้งานเลือกที่จะอนุญาตให้ใช้ระบบจดจำใบหน้า เฟซบุ๊กจะสแกนใบหน้าของผู้ใช้รายนั้น และใช้ระบบเพื่อค้นหารูปภาพและวิดีโอของพวกเขาบนแพลตฟอร์ม พร้อมกับแนะนำแท็กให้พวกเขา

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบดังกล่าวเพื่อระบุด้วยว่ามีใครแอบอ้างเป็นผู้ใช้รายนั้นบนเฟซบุ๊กหรือไม่ และยังช่วยในการเข้าถึง สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา ด้วยการบอกพวกเขาว่ามีใครอยู่ในภาพถ่ายบ้าง

ทำไมเฟซบุ๊กปิดระบบจดจำใบหน้า ?

เพเซนที กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบตัวตน แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมในแง่ความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใสอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้คนสามารถจำกัดการใช้ใบหน้าของพวกเขาในแพลตฟอร์ม

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในสังคมมีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ จำเป็นต้องตามให้ทัน

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราเชื่อว่าการจำกัดการใช้ระบบจดจำใบหน้า เป็นสิ่งที่เหมาะสม” เขากล่าวและว่า

การจดจำใบหน้ามีประโยชน์มากที่สุดเมื่อใช้งานบนอุปกรณ์ส่วนบุคคลเท่านั้น เช่น การปลดล็อกไอโฟน ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ภายนอก

จะเกิดอะไรขึ้นกับรูปภาพที่เคยแท็กในเฟซบุ๊ก ?

โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับรูปถ่ายหรือวิดีโอที่ติดแท็กไว้ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ในอนาคตจะไม่มีการแนะนำให้แท็กอีก

การช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางสายตา

ผู้ใช้งานจะยังสามารถเพิ่มข้อความและแท็กในรูปภาพและวิดีโอของตัวเองได้ แต่เฟซบุ๊กจะไม่แนะนำพวกเขาโดยอัตโนมัติอีก

จะเกิดอะไรขึ้นกับการจดจำใบหน้า ?

เฟซบุ๊กระบุว่าจะลบการจดจำใบหน้าออก ซึ่งหากผู้ใช้งานเลือกไม่ใช้บริการนี้ตั้งแต่แรก หรือไม่เคยเปิดใช้บริการเลย หรือลบบัญชีของตัวเองออกจากเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บภาพใบหน้าของผู้ใช้เอาไว้

มีข้อมูลรั่วหรือมีการขายข้อมูลหรือไม่ ?

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเผยว่า คนเดียวที่สามารถเข้าถึงการจดจำใบหน้าได้คือผู้ใช้งาน ขณะที่โฆษกเฟซบุ๊กยืนยันว่า ไม่มีช่องทางอื่นใดที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการจดจำใบหน้าได้

จะมีระบบอื่นมาแทนที่หรือไม่ ?

โฆษกเฟซบุ๊กกล่าวว่า เมตาเชื่อว่าในอนาคตจะมีการใช้งานการจดจำใบหน้าอย่างเกิดประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจะวิเคราะห์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเป็นส่วนตัว การควบคุม และความโปร่งใส จะต้องมาก่อนลำดับแรก

“สำหรับแอปพลิเคชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะเปิดเผยต่อสาธารณะตามที่ตั้งใจไว้ รวมถึงวิธีการที่ผู้ใช้งานจะสามารถควบคุมระบบเหล่านี้ และข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง เรารับประกันว่าเทคโนโลยีจะทำงานตามกรอบนวัตกรรมที่รับผิดชอบได้” โฆษกเฟซบุ๊กกล่าว

ปัญหาเรื่องความแม่นยำ-อคติ

บีบีซี รายงานว่า มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับจริยธรรมของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า โดยมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว อคติทางเชื้อชาติ และความถูกต้องแม่นยำของระบบ

เมื่อปี 2562 ผลการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า อัลกอริธึมการจดจำใบหน้านั้น มีความแม่นยำน้อยกว่ามากในการระบุใบหน้าชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และเอเชีย เมื่อเทียบกับใบหน้าของคนผิวขาว

โดยข้อมูลจากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐฯชี้ว่า หญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน มีแนวโน้มถูกระบุผิดตัวมากกว่า

เมื่อปีที่แล้ว เฟซบุ๊กยังได้ยุติข้อพิพาททางกฎหมายที่ดำเนินมายาวนานเกี่ยวกับการสแกนและแท็กรูปภาพ

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 สุดท้ายมีการตัดสินให้บริษัทฯจ่ายเงิน 550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 18,330 ล้านบาท ให้กับกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กในอิลลินอยส์ ที่ฟ้องร้องว่าเครื่องมือจดจำใบหน้าของเฟซบุ๊กละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของรัฐ

ส่วนบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น แอมะซอน และไมโครซอฟต์ ได้ระงับการขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับจดจำใบหน้าให้กับตำรวจ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนำไปสู่ข้อขัดแย้งมากขึ้น

การรีแบรนด์เป็น “เมตา”

เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของอินสตาแกรมและบริการส่งข้อความวอทส์แอพพ์ กำลังเผชิญกับการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นฟ้องเฟซบุ๊กในคดีผูกขาดทางการค้า โดยอ้างว่าเฟซบุ๊กหลีกเลี่ยงการแข่งขัน

และเมื่อเดือนที่แล้ว อดีตพนักงานของเฟซบุ๊กได้ออกมากล่าวหาว่าบริษัทมีพฤติกรรมที่ไร้จรรยาบรรณ

ฟรานเชส เฮาเกน ได้เผยแพร่เอกสารภายในของบริษัท ซึ่งเธอกล่าวว่าเอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กมุ่งเน้นกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊ก กล่าวว่า คำกล่าวอ้างของเฮาเกนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามใส่ความเท็จให้กับบริษัท

เฟซบุ๊กเพิ่งจะประกาศชื่อใหม่ของบริษัทคือ “เมตา” เพื่อขยายขอบเขตของบริษัทแม่ หลังเกิดข่าวลบมากมายเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก

ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า แบรนด์ที่มีอยู่ไม่สามารถเป็นตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่างที่บริษัทกำลังทำในวันนี้ นับประสาอะไรกับอนาคต จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง