ส่องมาตรการเปิดประเทศ CLMV หลังโควิด-19

ส่องมาตรการเปิดประเทศ CLMV หลังโควิด-19
ภาพจาก pixabay

เปิดเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) พร้อมมาตรการเปิดประเทศล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรบ้าง ?

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และมาตรการเปิดเมืองล่าสุด

CLMV คืออะไร ?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจการเงินในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นการร่วมมือกันของ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา (Cambodia) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Laos) สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam)

ภาพเศรษฐกิจโดยรวม มีอัตราการเติบโตสูงมาก ส่วนหนึ่งจากการเป็น Last Frontier Markets หรือตลาดหุ้นชั้นสอง มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ส่งผลให้นโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับต่่า (Lower Middle Income) ตามการจัดกลุ่มโดยเกณฑ์ธนาคารโลก

ทั้ง 4 ประเทศมีขนาดพื้นที่รวมกัน 1.43 ล้านตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรรวม 177 ล้านคน และประชากร 60 % อยู่ในวัยทำงาน (ข้อมูลปี 2562)

การพัฒนาของภาคการเงิน อาทิ การเข้าถึงบริการทางการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบธุรกิจพลังงาน เป็นส่วนสำคัญของระบบการเงิน ขณะที่ตลาดเงินและตลาดทุนยังมีขนาดเล็กมาก

ภาพรวมการค้าและการลงทุน มีอัตราการเปิดประเทศสูง (สัดส่วนมูลค่าส่งออกบวกนำเข้าต่อ GDP) และ
มีลักษณะเป็นการใช้ยุทธศาสตร์เก่าที่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก (Export-Led Growth) โดยเฉพาะเวียดนาม เป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในภาคการเงินและภาคการผลิต

กัมพูชา เป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านไทย ในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) ในเวลาที่เศรษฐกิจหลายประเทศต้องสะดุดในสถานการณ์โควิด-19 แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีการเติบโต

ผลกระทบจากโควิด-19

กลุ่มประเทศ CLMV ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยผลกระทบภาคเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ดังนี้

กัมพูชา

กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก จากภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่พึ่งพาจีนสูง โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ประเมินว่าโรคระบาดในครั้งนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของกัมพูชาขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ในปี 2563 เทียบกับร้อยละ 7.1 ในปีก่อนหน้า

สำหรับภาคการท่องเที่ยวกัมพูชา มีนักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ดังนั้นมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศที่จีนและหลายประเทศทั่วโลกที่ประกาศใช้ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 จึงส่งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาคการผลิตบางส่วนของกัมพูชาได้รับผลกระทบจากการที่หลายอุตสาหกรรมในจีนหยุดการผลิต รวมถึงการ
ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีนได้ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง สินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาคการขนส่ง

โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชานั้น ผู้ผลิตบางส่วนขาดแคลนวัตถุดิบและอาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ซึ่งกระทบต่อแรงงานประมาณ 1.6 แสนคน และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการบริโภคภายในประเทศหากสถานการณ์ยืดเยื้อ

สปป. ลาว

สปป. ลาว เป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่ม CLMV ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำ อย่างไรก็ตาม
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ สปป. ลาวจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์จากจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินแร่ ไม้ ยางพารา และทองแดง ส่วนหนึ่งจากภาคอุตสาหกรรมในจีนหยุดการผลิต ประกอบกับด่านพรมแดนระหว่างสปป. ลาว – จีน ที่ปิดทำการชั่วคราว

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกจาก สปป. ลาว ไปจีนในปี 2562 อยู่ที่ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของ GDP

นอกจากนี้ ในภาคก่อสร้าง พบว่า การก่อสร้างรถไฟลาว – จีน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ อาจได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากการขนส่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างต้องหยุดชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์ในจีนทำให้วิศวกรบางส่วนไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานได้

เมียนมา

สถานการณ์โดยรวมของเมียนมาสะท้อนระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวของเมียนมาลดลงประมาณร้อยละ 53 ทำให้คาดว่า รายได้จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของ GDP จะลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน
ในภาคการผลิต นักวิเคราะห์คาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ

จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากจีน โดยคาดว่าแรงงานกว่าหมื่นคนจะได้รับผลกระทบโดยตรง สะท้อนจากการทยอยปิดโรงงานในหลายเมือง อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 สหภาพยุโรปซึ่งมีการลงทุนในเมียนมาจำนวนมาก ได้มีมติให้เงินอุดหนุนจำนวน 5 ล้านยูโร ( 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอของเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้านการค้าและการลงทุน มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างจีนและเมียนมาในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563
ปรับลดลงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของสินค้าเกษตรและประมงเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ผลกระทบจากโรคระบาดยังส่งผลให้จีนชะลอการลงทุนในโครงการ Belt Road Initiative (BRI) ออกไป

เวียดนาม

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเวียดนามในภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และ
ภาคการผลิตจากการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากจีนเป็นสำคัญ

ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของเวียดนาม มาจากจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่า
ร้อยละ 50 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 ดังนั้น การที่จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 2 ประเทศลดลงตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามที่มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 11 ของ GDP

สำหรับภาคการผลิต นักวิเคราะห์ประเมินว่า การนำเข้าสินค้าขั้นกลางกว่าร้อยละ 27 ของการนำเข้าทั้งหมด เป็นการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ ที่คิดเป็นร้อยละ 60 และ 50 ของการนำเข้าสินค้าขั้นกลางชนิดนั้น ๆ ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สินค้าในอุตสาหกรรมของเวียดนามบางส่วน อาทิ หมวดสิ่งทอ สามารถทดแทนได้ ด้วยการนำเข้าจากเกาหลีใต้ อินเดีย บังกลาเทศ และบราซิล ทำให้ภาคการผลิตโดยรวมอาจได้รับผลกระทบไม่รุนแรง
มากนัก

ทั้งนี้ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตของเวียดนามจะได้รับผลกระทบจากผลของโควิด-19 แต่ข้อตกลงการค้าเสรียุโรป – เวียดนาม ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้หลังจากรัฐสภาเวียดนามให้สัตยาบันในเดือน
พฤษภาคม 2563 นี้ จะส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และจะช่วยประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

มาตรการเปิดประเทศ CLMV

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานกลุ่มประเทศ CLMV รายสัปดาห์ ประจำวันที่ 25-29 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีรายงานความคืบหน้ามาตรการการเปิดประเทศ ดังนี้

กัมพูชา

ประกาศให้จังหวัดสีหนุวิลล์ เกาะกง และโครงการดาราสาครเป็นพื้นที่นำร่องในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วโดยไม่ต้องกักตัว โดยจะเริ่มเปิดรับในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจะต้องอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 5 วัน และเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด อีกครั้ง ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นของประเทศ

ขณะที่จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ จะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมกราคม ปีหน้า

สปป.ลาว

รัฐบาลลาวอยู่ระหว่างศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในระยะแรกจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางมาท่องเที่ยวในลาวได้ใน
รูปแบบแพคเกจกอล์ฟทัวร์ในพื้นที่นครหลวงเวียงจันท์ โดยต้องอยู่ในพื้นที่ของโรงแรมและพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น

เมียนมา

มีแผนจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในต้นปี 2565 ซึ่งในระยะเริ่มต้น จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนามเท่านั้น โดยทางการเมียนมา คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวได้กว่า 3 แสนคน ก่อนที่จะขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ต่อไป

เวียดนาม

ทางการเวียดนามประกาศให้เกาะฟูก๊วก (Phu Quoc) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศยอดนิยมของประเทศ เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20
พฤศจิกายนเป็นต้นไป ก่อนจะขยายเพิ่มเติมไปยังฮำลองเบย์ และเมืองฮอยอันในเดือนธันวาคม แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเปิดรับนักท่องท่องเที่ยวจากประเทศใดบ้าง

แม้กลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ได้เปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบ และมีการกำหนดเงื่อนไขแตกต่างกัน แต่ทุกประเทศก็กำหนดว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด ภายใน 72 ชั่วโมง มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางมาถึงเท่านั้น