อินเดีย ฉลองเทศกาลทิวาลี ทิ้งควันพิษกลืนเมืองหลวง

อินเดียฉลองเทศกาลทิวาลี ทิ้งควันพิษกลืนเมืองหลวง
(Photo by Prakash SINGH / AFP)

หลังเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดีย ชาวนิวเดลีต้องตื่นมาพบกับมลพิษระดับอันตราย

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 อินเดียนิวส์รีพับลิก รายงานว่า ช่วงเช้าหลังผ่านพ้นเทศกาลแห่งแสง “ทิวาลี” ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญสำหรับชาวฮินดู ชาวกรุงนิวเดลีตื่นขึ้นมาภายใต้ควันพิษที่ปกคลุมทั่วท้องฟ้า และสูดเอาอากาศที่มีมลพิษอันตรายที่สุดเท่าที่เคยมีมาเข้าไปในร่างกาย

กรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวงที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ประชาชนยังยอมที่จะรับผลที่ตามมา จากการเฉลิมฉลองเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดีย ด้วยวิธีที่เสียงดังที่สุดและเกิดควันมากที่สุด

ตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษแห่งอินเดีย ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 451 จากระดับ 500 แสดงถึงสภาวะวิกฤต ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่มีสุขภาพดี และส่งผลร้ายแรงต่อผู้ที่มีอาการป่วย

ค่า AQI ซึ่งแสดงความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเดลี เมืองที่มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ย 706 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าทุกสิ่งที่มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่ปลอดภัย

PM2.5 ในอากาศ สามารถทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งปอด โดยในอินเดีย มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปี

สุนิล ดาฮิยา นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (CREA) กล่าวว่า การห้ามจุดประทัดดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จในกรุงนิวเดลี ซึ่งส่งผลให้เกิดระดับมลพิษที่เป็นอันตราย เพิ่มเติมจากแหล่งมลพิษที่มีอยู่แล้ว

แต่ละปี ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและศาลสูงของอินเดีย ได้ออกคำสั่งห้ามการจุดประทัด อย่างไรก็ตาม การสั่งห้ามเหล่านี้แทบไม่มีผลบังคับใช้

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น เทศกาลทิวาลียังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เหล่าเกษตรกรในรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา เผาตอซังข้าวที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวครั้งต่อไป

ซึ่งตอซังข้าวที่ถูกเผาเหล่านี้ ทำให้เกิด PM2.5 เป็นสัดส่วน 35% ในกรุงนิวเดลี ตามข้อมูลจากกระทรวงธรณีวิทยา

ในวันที่มีแดดจ้าผิดปกติในเดือนตุลาคม ซึ่งมีฝนและลมเป็นพัก ๆ ชาวนิวเดลีมีโอกาสได้สูดอากาศบริสุทธิ์ที่สุดในรอบอย่างน้อย 4 ปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูหนาว เมื่ออุณหภูมิและความเร็วลมลดลง มลพิษมักค้างอยู่ในอากาศนานขึ้น ส่งผลให้ระดับมลพิษในภูมิภาคทางตอนเหนือของอินเดีย เพิ่มสูงขึ้น

แอมบริช มิทาล แพทย์ประจำโรงพยาบาลแม็กซ์ เฮลท์แคร์ ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า เขารู้สึกเบื่อหน่ายกับการขาดความมุ่งมั่นที่จะทำให้เมืองหลวงอินเดียน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

“มันแย่มากสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด พวกเราถูกกำหนดให้ต้องต่อสู้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ และความทุกข์ทรมาน” เขาทวีตข้อความทางทวิตเตอร์

รัฐบาลอินเดียมักถูกกล่าวหาว่าไม่ดำเนินการมากพอเพื่อควบคุมมลพิษ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพในประเทศ ซึ่งมีประชากรมากสุดเป็นอันดับสองของโลก

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี กล่าวในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ว่า อินเดียจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2613 แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวช้าไป 20 ปี