มาสด้า พัฒนาระบบจอดรถอัตโนมัติ กรณีคนขับหัวใจวาย

มาสด้า พัฒนาระบบผู้ช่วยคนขับ พาจอดหากหัวใจวาย
ภาพจาก pixabay

มาสด้า มุ่งพัฒนาระบบผู้ช่วยคนขับรถ สามารถตรวจจับได้หากคนขับเกิดปัญหาสุขภาพ พร้อมจอดฉุกเฉินอย่างปลอดภัย

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 สื่อญี่ปุ่น รายงานว่า ที่ผ่านมามีการพัฒนารถยนต์ให้สามารถจอดเองได้ เตือนคนขับเวลาหลับใน เลี้ยวกลับเลนที่ถูกต้อง หรือแม้แต่เสนอเส้นทางไปยังจุดหมาย แต่ในปีหน้า มาสด้าจะพัฒนารถในญี่ปุ่นให้มีความสามารถมากกว่านั้น เพื่อให้สามารถตรวจจับได้ว่า ผู้ที่นั่งหลังพวงมาลัย อยู่ในภาวะโรคหลอดเลือดสมอง หรือ หัวใจวาย หรือไม่

ภายในปี 2568 รถของมาสด้าจะสามารถตรวจจับได้ว่า คนขับกำลังประสบปัญหาสุขภาพกะทันหัน จากนั้นรถจะส่งสัญญาณเตือนคนขับ

มาสด้าเผยว่า สิ่งที่ทำให้รถรับรู้ได้ว่าคนขับกำลังมีปัญหาคือกล้องที่อยู่ภายในตัวรถ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เซ็นเซอร์หรือเทคโนโลยีอื่นใด โดยรถที่มีความสามารถนี้จะจำหน่ายในราคาไม่แพง และไม่ได้มีเฉพาะในรุ่นหรูหราเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

มาสด้าให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสึกุบะ ในการค้นคว้าข้อมูลภาพ เพื่อตรวจสอบว่าคนขับที่มีสุขภาพดีนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับคนขับที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งจู่ ๆ ก็ฟุบบนพวงมาลัย

เมื่อตรวจจับปัญหาได้แล้ว ระบบผู้ช่วยคนขับ ซึ่งยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ จะนำรถคันนั้นไปจอดในจุดที่ปลอดภัย เช่น ขอบถนน โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ รถจะบีบแตรพร้อมไฟเลี้ยวและไฟฉุกเฉิน ก่อนจะแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังรถพยาบาลและตำรวจ

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ รวมถึง โฟล์คสวาเกนของเยอรมนี และ โตโยต้าของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน ต่างก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันนี้

มาสด้าวางแผนจะเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ในยุโรปหลังจากเปิดตัวที่ญี่ปุ่นแล้ว ส่วนแผนเปิดตัวในสหรัฐจะต้องรอพิจารณาก่อน เพราะยังมีคำถามเกี่ยวกับการยอมรับทางสังคม แม้คู่แข่งจะเปิดตัวระบบหยุดรถที่คล้ายกันนี้ในสหรัฐแล้วก็ตาม

มาสด้า เปิดเผยึถงข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ยืนยันว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่รั่วไหลออกจากรถ

ทาคาฮิโระ โทชิโอกะ วิศวกรที่รับผิดชอบระบบ กล่าวว่า มาสด้ากำลังหาวิธีคาดการณ์ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าผู้ขับขี่อาจไม่ได้ตระหนักว่าตนมีปัญหาแทรกซ้อน

โทชิโอกะ เล่าว่า สิ่งที่รถจะตรวจจับคือ การมอง การส่ายศีรษะ วิธีการขับรถที่ผิดปกติไปจากเดิม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ

“รถจะเตือนผู้ขับขี่ก่อนเกิดอาการจริง แต่ความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ขับขี่รถยนต์นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานของเทคโนโลยีนี้” วิศวกรกล่าว

มาสด้าหวังว่าชาวญี่ปุ่นจะเห็นคนขับรถที่มีปัญหาสุขภาพ และรีบเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความหวังดีต่อผู้อื่น

โทชิโอกะ กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถขับรถได้ตลอดชีวิต ทั้งยังช่วยให้ครอบครัวและเพื่อน ๆ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป