ราคาน้ำมันดัน “เงินเฟ้อ” พุ่ง วิเคราะห์ 3 ปัจจัยตัวแปร

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาก๊าซธรรมชาติ กับราคาน้ำมันดิบ ถีบตัวสูงขึ้นเดือนเดียวสูงถึง 14%

ถ้ามองเฉพาะราคาน้ำมันเทียบกับตอนต้นปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างน้อย 63.5% แล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอลง ตรงกันข้ามกลับยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เพราะดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ซัพพลายยังมีอยู่จำกัด

ราคาน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอขึ้นไปอยู่ที่ 82.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 83.66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แน่นอนว่าระดับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลผูกพันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะส่งผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่หลายประเทศเริ่มต้นเปิดประเทศหลังวิกฤตโควิดผ่อนคลาย การเดินทางเพิ่มมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ การผลิตก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่ถูก “อั้น” ไว้ตลอดปีที่ผ่านมา

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะจำกัดจำเขี่ยของพลังงานแทบทุกอย่าง ทั้ง ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน และน้ำมันดิบ ทางหนึ่งเนื่องจากแหล่งสำรองพลังงานไม่ได้ถูกเติมให้เต็มตามที่ควรจะเป็นในท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด ที่การเคลื่อนไหวถูกจำกัด ในอีกทางหนึ่งการขาดแคลนแรงงานที่จำเป็น อย่างเช่น คนขับรถบรรทุก ฯลฯ ทำให้ ภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร และอีกบางพื้นที่ในเอเชีย ย่างก้าวเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวและหน้าเทศกาลประจำปี โดยที่ปริมาณพลังงานสำรองมีอยู่ต่ำกว่าระดับปกติอยู่มาก

ภาวะแล้งจัดในภูมิภาคอเมริกาใต้ ยิ่งทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากไม่สามารถผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้ตามปกติ ต้องหันมาอาศัย ถ่านหิน และ ก๊าซธรรมชาติ ในการผลิตไฟฟ้า ที่ต้องเพิ่มขึ้นตามความต้องการ กลายเป็นการแย่งชิง ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ กับหลายประเทศในเอเชีย ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ราคาที่พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานชี้ว่า ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอนาคตอันใกล้จะพุ่งขึ้นไปขนาดไหน ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย หนึ่งคือ หน้าหนาวในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ปีนี้หนักหนาสาหัสแค่ไหน ยิ่งหนาวหนักก็จะกลายเป็นปัจจัยดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้นไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยถัดมาก็คือ “โอเปคพลัส” จะเปลี่ยนแปลงนโยบายค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการผลิตหรือไม่ และ ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกา จะหันมาเพิ่มผลผลิตของตนหรือไม่ จนถึงขณะนี้ทั้งสองปัจจัยยังไม่เปลี่ยนแปลง

ประเด็นสุดท้าย ที่เป็นแรงกดดันต่อภาคพื้นยุโรปเป็นพิเศษก็คือ ความพยายามของ “รัสเซีย” ที่ต้องการใช้วิกฤตพลังงานหนนี้เป็นเครื่องมือให้ชาติในยุโรปรับรอง ท่อลำเลียงน้ำมัน “นอร์ดสตรีม 2” ของตนเอง เรื่องนี้จะลงเอยด้วยการทำให้ยุโรป ได้รับพลังงานเพิ่มจากรัสเซียหรือต้องหันมาช่วงชิงกับชาติอื่น ๆ ในตลาดโลกอีกครั้งก็ยังเป็นเงื่อนปมอยู่ดี

ราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้นนั้นชัดเจนว่า ส่งผลโดยตรงต่อ “อัตราเงินเฟ้อ” เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม ราคาการขนส่งเพิ่ม ผู้ผลิตก็จะเริ่มขึ้นราคาตามไปด้วย

แต่นอกจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว การที่ราคาพลังงานสูงขึ้น ทำให้ “กำลังซื้อ” ของผู้บริโภคหดตัวลงตามไปด้วย ทำให้ผู้บริโภคใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ในทำนองเดียวกันกับที่ทำให้ กำไรของบริษัทลดน้อยลง จนทำให้ไม่สามารถเพิ่มเงินค่าแรงให้กับคนงานได้ กำลังซื้อของคนงานก็ลดลงตามไปด้วย

ยิ่งกำลังซื้อของแรงงานและผู้บริโภคโดยรวมลดลงมากเท่าใด ก็จะลดการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยของตนลงมากเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงตามไปด้วย สุดท้ายก็จะกลายสภาพเป็นความชะงักงันของเศรษฐกิจโดยรวม หนัก ๆ เข้า เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ในที่สุด

ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกสถานการณ์ทำนองนี้ว่า “สแตกเฟลชัน” (Stagflation) ที่หมายถึงสภาวะเงินเฟ้อสูง แต่แทนที่จะทำให้การผลิตขยายตัว กลับทำให้เศรษฐกิจหดตัว หรือชะงักงันไปพร้อม ๆ กัน

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่จะกลายเป็นพลวัตของเศรษฐกิจโลก แพร่ขยายเป็นวงกว้าง

เพราะฉะนั้น ต้องจับตามองกันให้ดี !