“ฮ่องกง” เผชิญความท้าทาย ปริมาณ “เงินทุนสำรอง” ทรุด

สถานะศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคเอเชียของ “ฮ่องกง” กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่รัฐบาลจีนดำเนินการกระชับอำนาจเหนือฮ่องกงมากขึ้น และขณะนี้การดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหารยังเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของฮ่องกงอีกด้วย

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ฝ่ายนิติบัญญัติของฮ่องกงมีมติอนุมัติงบประมาณกว่า 305,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติประจำปี 2020-2021 สำหรับใช้ในการลงทุนโครงการสาธารณะต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารฮ่องกงในปี 2022

โดยเม็ดเงินดังกล่าวนับว่าสูงสุดในรอบ 9 ปี และมากกว่าการงบประมาณประจำปี 2019-2020 ถึง 10% โดยยังไม่รวมการอนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน 205,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้กับฝ่ายบริหารสำหรับการรับมือกับโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การอนุมัติงบประมาณดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่า สามารถผ่านการอภิปรายและลงมติของสภานิติบัญญัติฮ่องกงไปได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมากลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติไปในช่วงเดือน พ.ย. 2020 เพื่อประท้วงฝ่ายบริหารฮ่องกง ส่งผลให้แทบจะไม่มีการคัดค้านการอนุมัติงบประมาณครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณเงินทุนสำรอง (fiscal reserves) ของฮ่องกง “เควิน ไล” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของบริษัทหลักทรัพย์ไดวา แคปปิทัล มาร์เก็ตส์ ระบุว่า “หากไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม เงินทุนสำรองของฮ่องกงจะเผชิญความกดดันมากขึ้น”

ที่ผ่านมา ฮ่องกงเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีเงินทุนสำรองมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายที่ดินและการเก็บภาษี ส่งผลให้สถานะทางการเงินค่อนข้างมีเสถียรภาพในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

แต่ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เงินทุนสำรองของฮ่องกงลดลงมาอยู่ที่ 812,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากเกือบ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในเดือน มี.ค. 2020 โดยเงินทุนสำรองบางส่วนได้นำมาใช้รับมือกับสถานการณ์โรคระบาด

นักวิเคราะห์มองว่า การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่องทำให้เงินทุนสำรองของฮ่องกงตกอยู่ในความเสี่ยง “แอนดี กวัน” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจเอซีอี (ACE Center for Business and Economic Research) ระบุว่า ฮ่องกงอาจสูญเสียวินัยทางการคลัง หากมีการใช้จ่ายในโครงการสาธารณะยักษ์ใหญ่เป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารของฮ่องกงได้ประกาศโครงการ “Lantau Tomorrow Vision” ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่บนเกาะเทียมทางตะวันตกของเมือง โดยคาดว่าโครงการนี้จะใช้งบประมาณกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

นอกจากนี้ ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา “แคร์รี แลม” ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ยังได้ประกาศแผนพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของฮ่องกงใกล้ชายแดนจีน ใช้ชื่อว่า “มหานครเหนือ” (Northern Metropolis) ซึ่งจะเป็นโครงการระยะยาว 20 ปี แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายของแผนดังกล่าว

แอนดี กวัน ระบุเพิ่มเติมว่า โครงการเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามในการเชื่อมต่อระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการมหานครเหนือที่จะเชื่อมกับโครงการเส้นทางรถไฟของรัฐบาลปักกิ่ง 5 โครงการในจีนแผ่นดินใหญ่

ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างแรงกดดันต่อปริมาณเงินทุนสำรองของฮ่องกงมากขึ้น หากต้องมีการดำเนินโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้รายได้ของฮ่องกงลดน้อยลง

นอกจากนี้ การกระชับอำนาจของรัฐบาลจีนเหนือฮ่องกง เช่น การออกกฎหมายความมั่นคงและการปราบปรามผู้ประท้วงในช่วงก่อนหน้านี้ ยังส่งผลกระทบต่อแรงดึงดูดของฮ่องกงที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากภาคการเงินของฮ่องกงมีปัญหาก็จะยิ่งกระทบกระเทือนสถานะศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงมากขึ้นด้วย