ยูเอ็นชี้ “เมียนมา” วิกฤต ประชาชนครึ่งประเทศ “ยากจน”

9 เดือนหลังกองทัพเมียนมา รัฐประหารรัฐบาลพลเรือนเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมียนมาตกต่ำลงทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจ เพราะหลังกองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน บรรดากลุ่มทุนบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ พากันถอนการลงทุนหนีความวุ่นวายทางการเมือง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักหน่วง

โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเมียนมาปี 2564 จะหดตัวถึง 18% และหากสถานการณ์บ้านเมืองยังคงวุ่นวายไม่มีจุดสิ้นสุด จะทำให้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของเมียนมาลากยาวตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปีต่อ ๆ ไป

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เผยแพร่รายงานในสัปดาห์นี้ จากการสำรวจชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเมียนมา 1,200 ครัวเรือน นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 1 ก.พ. ชี้ว่า ความยากจนระดับครัวเรือนของชาวเมียนมา มีแนวโน้มกลับสู่ “การถดถอย” ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เมื่อ 2548 หรือก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ เมื่อ 2554 เสียอีก

ยูเอ็นดีพี ซึ่งสำรวจข้อมูลความเป็นอยู่ระดับครัวเรือนช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่า ผลพวงจากวิกฤตร้ายแรงจากรัฐประหาร ควบคู่กับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชากรในเขตเมืองมีรายได้ต่ำกว่า
เส้นความยากจนมากขึ้น (1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่กลุ่มชนชั้นกลางในเมียนมา โดยเฉพาะที่อาศัยในเขตเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้ง หรือ มัณฑะเลย์ จะหายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

คันนี วิกนาราชา ผู้อำนวยการยูเอ็นดีพี ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า “ความยากจนในระดับนี้อาจหมายถึง การหายไปของกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นลางร้ายสำหรับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตโรคระบาด” ในกรณีเลวร้ายที่สุด ยูเอ็นดีพีประมาณการว่า ปีหน้าจะมีชาวเมียนมาที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 24.8% เป็น 46.3% ของประชากร ขณะที่ความยากจนของประชากรในเขตเมืองสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจาก 11.3% ในปี 2562 เป็น 37.2% ภายในปี 2565

นั่นหมายความว่า ปัจจัยจากโควิดและรัฐประหาร อาจทำให้เมียนมามีคนจนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 12 ล้านคน เมื่อนับรวมกับจำนวนคนยากจนที่มีอยู่เดิม อาจมีประชากรมากถึง 25 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ 55 ล้านคน กลายสภาพเป็นคนยากจนภายในต้นปี 2565 ซึ่งเป็นระดับความยากจนที่ไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2548

ผลสำรวจพบว่าครัวเรือนเกือบ 3 ใน 4 ยอมรับว่า มีรายได้ลดลงนับตั้งแต่ผลของการรัฐประหารและโควิด เกือบ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีสภาพว่างงาน หรือต้องปิดกิจการเนื่องจากมาตรการคุมเข้มการระบาด ตลอดจนสถานการณ์ด้านการเมือง และพบว่า 1 ใน 3 ของครัวเรือนที่อาศัยในเขตชนบทต้องขายปศุสัตว์ ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจในเขตเมืองระบุว่า พวกเขาแทบไม่มีเงินเก็บเหลือ ขณะที่อีกหลายครอบครัวต้องขายมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นพาหนะหลักของครอบครัวเพื่อยังชีพ

ไม่เพียงแค่นั้น ยูเอ็นดีพียังพบแนวโน้มที่ชัดเจนของหลายครัวเรือนซึ่งมีอัตราการบริโภคอาหารลดลง และเด็ก ๆ ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มสูงขึ้น ในเมืองใหญ่ ๆ อาทิ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ พื้นที่ศูนย์กลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเดิมเป็นบ้านของชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต ได้เห็นการหยุดชะงักของธุรกิจขนาดเล็ก และภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่การก่อสร้าง การท่องเที่ยว ไปจนถึงการค้าปลีกและสิ่งทอ นำมาซึ่งการสูญเสียงานและค่าจ้างที่ลดลง

ขณะเดียวกัน ยูเอ็นดีพียังพบว่า แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาซึ่งเป็นเสาหลักส่งเงินจากต่างแดนมาจุนเจือครอบครัวบ้านเกิดนั้น ในปีนี้การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานเมียนมาลดเหลือเพียง 2.4% จากเดิมที่ชาวเมียนมาจะได้รับเงินจุนเจือครอบครัวจากต่างแดนราว 19.5% เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นผลพวงจากการคุมเข้มชายแดนเพื่อควบคุมการระบาดของหลายชาติในอาเซียน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า งานวิจัยของยูเอ็นดีพีอาจดูไม่สมเหตุสมผลถึงผลกระทบที่แท้จริงจากรัฐประหารที่มีต่อสังคมเมียนมา เพราะเป็นการสำรวจช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นั้น ได้ให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านการเมืองอย่างมาก อาจยังไม่ครอบคลุมถึงปัจจัยการระบาดโควิดอย่างรุนแรงช่วงกลางปีที่ผ่านมา และกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารในกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์และพยาบาลจำนวนมากหยุดงานประท้วง ประกอบกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่ไม่ยอมเข้ารับการรักษาตามมาตรการของรัฐบาลทหาร ยิ่งทำให้โควิดเมียนมารุนแรงขึ้น

“หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ความสูญเสียจะส่งผลต่อประชากรรุ่นต่าง ๆ ไม่เพียงแค่การสูญเสียคนหนุ่มสาวจากสงครามกลางเมือง แต่คนรุ่นต่อไปอาจบกพร่องจากการขาดสารอาหาร และภาวะโภชนาการที่ไม่ดีจากความยากจนสุดขีด” ผู้อำนวยการยูเอ็นดีพีกล่าว