WHO แนะ ไม่ควรใช้พลาสมาเลือด รักษาผู้ป่วยโควิด

Photo by JAIME REINA / AFP

อนามัยโลกเพิ่งแนะ ชี้ไม่ควรใช้พลาสมาจากเลือดของผู้หายป่วยโควิด รักษาผู้ติดเชื้อ

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำ ไม่ควรใช้พลาสมาจากเลือดของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ในการรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักนั้นควรใช้ในกรณีเฉพาะทดลองทางคลินิกภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดเท่านั้น

คำแนะนำล่าสุดของอนามัยโลก อ้างอิงจากหลักฐานจากการทดลอง 16 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 16,236 รายที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง อาการปานกลาง และอาการรุนแรง

Photo by JAIME REINA / AFP

“คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา” (Convalescent Plasma) หรือพลาสมาจากเลือดที่มีโปรตีนแอนติบอดีที่ร่างกายผลิตออกมาหลังจากติดเชื้อไวรัส นำมารักษาผู้ป่วยโควิดในระยะพักฟื้น โดยจะได้รับบริจาคโดยผู้ที่หายจากไวรัสแล้ว ด้วยความหวังที่แอนติบอดีของผู้บริจาคจะช่วยต่อสู้กับไวรัสในร่างกายของผู้ที่ยังพักฟื้นอยู่

วิธีนี้เป็นหนึ่งในหลากวิธีการรักษาที่ถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะในช่วงต้นๆ ของการระบาด ทว่าจากผลการทดลองทางคลินิกพบว่าประโยชน์ของการใช้พลาสมาเลือดนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การรักษาด้วยพลาสมายังเผชิญความท้าทายในทางปฏิบัติ อาทิ การค้นหา รวบรวม และทดสอบพลาสมาเลือดจากผู้บริจาค ไปจนถึงการจัดเก็บและขนส่ง

คำแนะนำล่าสุดของอนามัยโลกนี้ อ้างอิงจากหลักฐานจากการทดลอง 16 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 16,236 รายที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง รุนแรง และอาการรุนแรง

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า การให้พลาสมาต่อผู้ป่วยระยะพักฟื้นสูงวัย สามารถช่วยลดการลุกลามของโรคที่แสดงอาการรุนแรงได้ หากผู้ป่วยได้รับพลาสมาในช่วง 72 หลังเริ่มแสดงอาการ

ทั้งนี้ ไฟเซอร์และเมอร์ค กำลังเร่งขออนุมัติฉุกเฉินสำหรับการใช้ยาเม็ดต้านไวรัสแบบรับประทาน ซึ่งออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล