รู้จัก “โซโตรวิแมบ” ยารักษาโควิด มีประสิทธิภาพปราบโอไมครอน

“GSK” เผยผลทดลองขั้นต้น ยารักษาโควิดพัฒนาร่วมกับบริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี มีประสิทธิภาพสู้โควิดทุกสายพันธุ์ รวมถึงเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 บริษัทแกล็กโซสมิทไคลน์ (GlaxoSmithKline) หรือ GSK ผู้ผลิตยาสัญชาติอังกฤษ เปิดเผยผลข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในขั้นต้นว่า ยาแอนติบอดีโซโตรวิแมบ (Sotrovimab) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า “เซวูดี” (Xevudy) ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับบริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir Biotechnology) ของสหรัฐ ให้ประสิทธิภาพต่อต้านเชื้อไวรัสโควิดในทุกสายพันธุ์ รวมไปถึงสายพันธุ์โอไมครอน แม้โอไมครอนจะมีการกลายพันธุ์ถึง 37 จุดในโปรตีนหนาม (Spike Protein) ก็ตาม

GSK และ Vir ได้สร้างไวรัสจำลองที่มีการกลายพันธุ์หนามโปรตีนทุกจุดสำคัญ ซึ่งพบเชื้อโควิดในสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวยาที่ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ จนกลายเป็นยาโซโทรวิแมบ ยาต้านไวรัสโควิดชนิดพัฒนาจากแอนติบอดี หรือ โมโนลคอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์บี (B cell) ที่เป็นกลางต่อไวรัส SARS-CoV-2 ถูกออกแบบให้มุ่งเป้าทำลายและยับยั้งการกลายพันธุ์ของหนามโปรตีนบนผิวของเชื้อไวรัสโควิด จึงเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อไวรัสโควิดได้ทุกสายพันธุ์ รวมไปถึงเชื้อโอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามโปรตีน 37 จุด

ผู้ป่วยจะได้รับยาไซโตวิแมบผ่านการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งไม่ให้เชื้อแพร่ลงสู่ปอดด้วย

ส่วนหนึ่งในการศึกษา GSK และ Vir ได้ทดสอบด้วยไวรัสหลอก และทดสอบการกลายพันธุ์ของโควิด ที่เกิดขึ้นกับการรักษาด้วยยาโซโทรวิแมบ เบื้องต้นพบว่ามีประสิทธิภาพยับยั้งการแพร่ของเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยดังกล่าวยังคงอยู่ในระยะทดลองขั้นต้นเท่านั้น ท่ามกลางข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนว่า ไวรัสโอไมครอนมีความรุนแรง และมีอัตราการแพร่เชื้อได้มากน้อยเพียงใด

ฮาล บาร์รอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัท GSK เปิดเผยว่า จากข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ยาของไซโตรวิแมบมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน และรวมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศว่าเป็นสายพันธุ์น่ากังวล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดการวิจัยขั้นต้นของ GSK นี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์บนวารสารการแพทย์

ทั้งนี้ เมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) ลงความเห็นฉุกเฉิน อนุมัติให้ใช้ยาโซโตรวิแมบ ในการรักษาผู้ป่วยโควิดอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่อาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยทรุดหนักแล้ว หลังพบการศึกษาเบื้องต้นว่ายาดังกล่าวลดความเสี่ยงการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลงได้ 79%

photo: GSK/Vir Biotechnology