โจทย์ท้าทาย “โอลาฟ โชลซ์” นายกฯคนใหม่เยอรมนี

สิ้นสุด 16 ปี เยอรมนีใต้เงา “อังเกลา แมร์เคิล” อย่างเป็นทางการ หลังจาก “โอลาฟ โชลซ์” ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่หัวหน้ารัฐบาลกลางเบอร์ลินที่ดูแลกิจการภายในเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เยอรมนีเสมือน “พี่ใหญ่” ของอียู พันธมิตรสำคัญในกลุ่มนาโต้ และกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7)

การเข้ามาของ “รัฐบาลไฟสัญญาณจราจร” จากการรวมตัวครั้งแรกของพรรคการเมืองสามฝ่ายภายใต้การนำของโชลซ์ ถือเป็นการผลัดเปลี่ยนครั้งสำคัญไม่เพียงเฉพาะเยอรมนี แต่ยังรวมทั้งสหภาพยุโรป ท่ามกลางความท้าทายทั้งในประเทศและภูมิภาค

ปัญหาเร่งด่วนคือ โควิดในเยอรมนีที่กลับมาระบาดระลอกที่ 4 โดยเมื่อครั้งโชลซ์นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง สมัยรัฐบาลแมร์เคิล เขามีหน้าที่ดูแลงบประมาณฉุกเฉินมูลค่า 750,000 ล้านยูโร สำหรับช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานลูกจ้างให้อยู่รอด

ทว่าความท้าทายใหม่ที่รอคอย คือ “อัตราการฉีดวัคซีน” ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศร่วมภูมิภาคอย่าง สเปน เดนมาร์ก หรือเบลเยียม รัฐบาลต้องงัดไม้แข็งบังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน ออกมาตรการล็อกดาวน์ผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนเป็นการเฉพาะจนเกิดการประท้วงหลายเมืองใหญ่

เศรษฐกิจเป็นโจทย์หินสุดท้าทายที่โชลซ์ต้องเผชิญ เยอรมนีกำลังเสี่ยงเผชิญแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่น่ากังวลจากหลายปัจจัย ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า คำสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อีกทั้งปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลนไมโครชิป ยังเป็นคอขวดต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ เงินเฟ้อแตะระดับ 6% ในเดือนที่แล้ว สูงสุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจต้องใช่เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด

พลังงานหมุนเวียนเป็นอีกความท้าทาย โชลซ์ตั้งเป้าเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2573 เร็วกว่าแผนเดิมของแมร์เคิล 8 ปี สนับสนุนการเลิกใช้รถยนต์เบนซินและดีเซล หนุนมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนในเยอรมนี 15 ล้านคัน ในสิ้นทศวรรษนี้

แม้ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่า เยอรมนีในฐานะชาติอุตสาหกรรม จะทำอย่างไรหากปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ทั้งหมด เยอรมนีจำเป็นต้องสร้างกังหันลม โซลาร์เซลล์ และโรงไฟฟ้าก๊าซจำนวนมากเพื่อทดแทน หมายความว่า ภาคการผลิตและที่อยู่อาศัยอาจเผชิญกับการขาดแคลนพลังงานและราคาไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งพลังงานทดแทนเหล่านี้ต้องมีมากพอการต่อใช้ไฟในระดับพื้นฐานที่จะไม่ทำให้การเติบโตทางอุตสาหกรรมต้องสะดุด

“นาโต้-รัสเซีย-สหรัฐ” เป็นสามเส้าต่างประเทศที่ซับซ้อน และท้าทาย เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐมีท่าทีขู่คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมอสโก หากรุกรานยูเครน เยอรมนีที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากก๊าซจากรัสเซีย โดยเฉพาะโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ที่สหรัฐมองว่า หากเยอรมนี หรืออียู นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย เท่ากับผูกโยงพึ่งเศรษฐกิจกับรัสเซียมาก เรื่องท่อก๊าซยังคงเสียงแตกในรัฐบาล พรรคกรีนคัดค้านมาโดยตลอด สวนทางกับเอสพีดีที่สนับสนุน

นี่ก็เป็นหนึ่งประเด็นที่สะท้อนว่ามุมมองอันต่างกันของพรรคร่วม 3 ฝ่าย ก็เป็นความท้าทายในรัฐบาลผู้นำเยอรมนีคนใหม่เช่นกัน