K-food ซอฟต์พาวเวอร์ ดันอาหารเกาหลีฟีเวอร์ทั่วโลก

อาหารเกาหลี

นอกเหนือจากกระแสเค-พ็อป (K-pop) ที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงไปยังตลาดโลกผ่าน ศิลปิน ดารา นักร้อง ภาพยนตร์ จนถึงซีรีส์อย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี อีกหนึ่งกระแสที่กำลังมาแรงจากการต่อยอดจากความสำเร็จดังกล่าว คือ อุตสาหกรรมอาหารเกาหลี หรือ K-food ที่กำลังเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ต่อเนื่องจากกระแสความบันเทิงเกาหลี กำลังกระตุ้นให้ความอยากอาหารเกาหลีฟีเวอร์ไปทั่วโลก

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ส่วนผสมหลักในการผลักดันกระแส “เค-ฟู้ด” คือการปรากฏตัวของอาหารเกาหลีผ่านหน้าจอรายการฮิตต่าง ๆ ภาพยนตร์ซีรีส์ ตลอดจนการใช้บัญชีโซเชียลมีเดียของศิลปินที่เรียกน้ำย่อยของเหล่าแฟน ๆ เป็นอย่างดี

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ คือ ความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” ที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และอีกหลายรางวัลเมื่อปี 2020 ที่มีฉากโดดเด่นหนึ่งที่ตัวละครทานอาหารยอดนิยมอย่าง “จาปากูรี” ซึ่งเป็นการผสมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี ที่เรียกว่า รามยอน จาก 2 สูตร จากผู้ผลิตเดียวกัน คือ จาปาเก็ตตี้ (Chapaghetti) และนีโอกูรี (Neoguri) จนเกิดเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบใหม่ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม บริษัท นงชิม (Nongshim) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งสองรสชาติ ถึงกับระบุรายละเอีดดของจาปากูรีไว้ในเว็บไซต์ว่า เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผู้กำกับ “บอง จุน โฮ” ภูมิใจนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว และได้สร้างชื่อไปพร้อม ๆ กับภาพยนตร์กลายเป็นอาหารที่คนทั่วโลกรู้จัก

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย บริษัท นงชิม ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ใน 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 2 รสชาติ

ในปี 2020 มียอดขายในอเมริกาเหนือสูงถึง 291 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.69 พันล้านบาท ขณะที่ในจีนมียอดขาย 314 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น นงชิมยังปล่อยสูตรปรุงจาปากูรีหลากรูปแบบถึง 10 สูตรผ่านยูทูบ และมีการแจกบะหมี่ดังกล่าวในโรงภาพยนตร์ที่ Parasite ออกฉายด้วย

ไม่แค่บะหมี่รามยอนท่านั้น ไม่นานหลังซีรีส์เรื่อง Crash Landing on You หรือ “ปักหมุดรักฉุกเฉิน” ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ซึ่งในซีรีส์มีฉากที่ตัวละครกำลังนั่งรับประทานไก่ทอดของ Genesis BBQ ในร้านอาหารพร้อมชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ หลังฉากดังกล่าวได้ออกอากาศ

โฆษกของ Genesis BBQ เครือร้านอาหารไก่ทอด เปิดเผยว่า ยอดผู้เข้าใช้บริการของร้านอาหาร 193 แห่งใน 17 ประเทศนอกเกาหลีใต้ อาทิ จีน ญี่ปุ่น สเปน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ตุรกี บราซิล มาเลเซีย ไต้หวัน และแคนาดา เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมนู golden olive chicken ที่แม้ซีรีส์เรื่องดังกล่าวจะออกอากาศกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่บริษัทยังรับรู้ถึงกระแสจากความนิยมอยู่ไม่น้อย

นี่ยังไม่รวมถึงกระแสความนิยมในซีรีส์ล่าสุดอย่างเรื่อง Squid game ที่กลายเป็นกระแสโด่งดัง จนผู้คนหันมาให้ความสนใจการแกะขนมน้ำตาล หรือ “ทัลโกนา” จากฉากที่ตัวละครต้องเดิมพันด้วยชีวิตจากการแกะสลักขนมดังกล่าว

โฆษกสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนเกาหลี หรือ KOTRA เผยว่า ผู้คนทั่วโลกนอกจากให้ความสนใจเนื้อหาบันเทิงของเกาหลีใต้มากขึ้นแล้ว ยังพบว่าความนิยมสินค้าอุปโภคบริโภคของเกาหลีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ภาพยนตร์และซีรีส์เป็นตัวช่วยกระตุ้นชั้นดีต่อความสนใจในอาหาร เครื่องสำอาง และแฟชั่นของเกาหลีใต้ ภาพสะท้อนรูปธรรมที่สุดสำหรับความดังจาก K-pop มาสู่ K-food คือตัวเลขที่กระทรวงเกษตรและอาหาร เปิดเผยมูลค่าการส่งออกอาหารของประเทศพุ่งเกินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.3 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2021

“นี่เป็นผลจากความพยายามของเราในการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารของเกาหลีใต้ไปทั่วโลก” เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุ

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้เคยกล่าวไว้ช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 ว่า Soft Power เกาหลีใต้ที่สะท้อนผ่านอาหาร ภาพยนตร์ เพลง และซีรีส์นั้น คือสินทรัพย์ทางการทูตอันทรงคุณค่าที่เสมือนสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับนานาชาติได้ หากเกาหลีใต้ใช้สะพานนี้ร่วมมือกับประชาคมโลก ผ่านวัฒนธรรมกระแสเกาหลี (Koren Wave) จะทำให้เกาหลีใต้และชาติพันธมิตรสามารถบรรลุเป้าหมายระดับโลก อาทิ การกระจายวัคซีนโควิด หรือการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้