“สินค้า-บริการ” ในญี่ปุ่นขยับ สัญญาณ “เศรษฐกิจ” ฟื้นตัว ?

แม้สถานการณ์เงินฝืดในประเทศญี่ปุ่นยังคงดำเนินอยู่ แต่หลายบริษัทมองเห็นสัญญาณการฟื้นคืนของเศรษฐกิจ ในช่วงปลายปีนี้ดูเหมือนว่าจะมีหลายเจ้าตัดสินใจปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น

“เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล” รายงานว่า “โทริคิโซกุ” เชนร้านอาหารราคาประหยัดซึ่งขายไก่ย่างเสียบไม้ “ยากิโตริ”ประกาศขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 30 ปี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากราคา 2 ไม้ 2.49 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.65 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บริษัทเบียร์เจ้าหลัก4 เจ้าเตรียมขึ้นราคาในรอบทศวรรษ เมื่อคำนวณแล้ว สำหรับการแฮงเอาต์ที่ร้านยากิโตริ หนึ่งมื้อผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มเฉลี่ย 8 เซนต์

สำหรับญี่ปุ่น การขึ้นราคาอะไรสักอย่างถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะช่วง 15 ปีที่ผ่านมาที่ประสบกับภาวะเงินฝืด

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ระบุว่า ราคาผู้บริโภคหลักของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนตุลาคม 2560 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนกันยายนที่อยู่ที่ 0.7% ขณะที่ตัวเลขราคาผู้บริโภคหลักติดลบในเดือนธันวาคมปี 2559

ราคาสินค้าและบริการญี่ปุ่นถือเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจหลักของโลก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการการบริโภคของจีนและสหรัฐอเมริกา สองคู่ค้าหลัก

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการที่ดีดตัวขึ้นยังไม่เป็นไปตามคาดหวังของธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น หรือ BOJ ที่ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ BOJ “ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” ประกาศว่า ต้องการให้ราคาบริโภคในญี่ปุ่นขยับสูงขึ้น 2% แต่ปัจจุบันนั้นการแตะ 2% ดูจะเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ห่างไกล

ปัจจุบันธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้นโยบายทางการเงินอย่างเข้มข้น มีมาตรการหลายตัวออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางกับหลายประเทศทั่วโลกที่พยายามผ่อนคลายนโยบายต่าง ๆ อันที่จริงแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจไม่ได้แก้ง่ายด้วยการออกนโยบายเท่านั้น เพราะลึกลงไปในปัญหาที่กัดกร่อนเศรษฐกิจมานาน เป็นเรื่องของพฤติกรรมการบริโภคที่มีความเฉพาะตัว และมีความเฉื่อยชาเสียมากกว่า

นิสัยของผู้บริโภคญี่ปุ่นคือจะไม่เชื่อใจในการขึ้นราคาง่าย ๆ และพาลจะไม่อุดหนุนสินค้านั้นหากไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าการขึ้นราคาดังกล่าวสมเหตุสมผล ภาระบางส่วนตกจึงอยู่กับผู้จำหน่ายและผู้ให้บริการ ร้านโทริคิโซกุพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาราคาให้เท่าเดิมมาตลอด 30 ปี เช่น การตั้งหน้าจอสำหรับสั่งอาหารเพื่อลดจำนวนเด็กเสิร์ฟ

ขณะที่บริษัทเบียร์อาซาฮีและคิริน ตกลงแชร์โกดังและรถบรรทุก เพื่อเซฟค่าขนส่ง “อะกิโยชิ โคจิ” ประธานบริษัทอาซาฮี เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทางบริษัทต้องพยายามอย่างหนักเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภครู้สึกว่าราคาที่ขายนั้นยุติธรรม

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ มีโอกาสที่ธนาคารญี่ปุ่นจะปรับดอกเบี้ยต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี สู่ 0.2-0.3% ในปีหน้า จากปัจจุบัน 0% เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะทำให้ข้าวของแพงกว่าเดิม

“ผู้บริโภคยังคงต่อต้านและต้องการราคาที่ต่ำอยู่ ไม่ใช่แค่ว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องระวังการขึ้นราคา แต่บางทีอาจต้องเตรียมที่จะลดราคาด้วย”


นักเศรษฐศาสตร์จากมิซูโฮะ “ยาสุนาริ อุเอโนะ” กล่าวญี่ปุ่นเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมากว่าทศวรรษ ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นเงินฝืดเท่านั้น แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วย นับตั้งแต่ยุคที่คนวัยทำงานเฟื่องฟูหมดลง อัตราว่างงานสูงถึง 155 ตำแหน่ง ต่อคน 100 คน การแข่งขันเพื่อรักษาพนักงานของร้านตัวเองไว้ โดยเฉพาะร้านอาหารจานด่วนและอุตสาหกรรมก่อสร้างในญี่ปุ่นจึงดุเดือดอย่างยิ่ง