เวิลด์แบงก์คาดปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัว หั่นเป้าจีดีพีโลกโต 4.1%

(Photo by Stefani Reynolds / AFP)

ธนาคารโลกเตือนเศรษฐกิจโลกปีนี้อาจไม่ดีอย่างที่หวัง จากปัจจัยความไม่แน่นอนของโควิดโอมิครอน

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก แถลงเตือนว่า จากการประเมินของธนาคารโลกเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ภาวะเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนด้านโยบายการเงินการคลังที่ต้องปรับมาตรการรับมือกับสภาวการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั่วโลก โดยเศรษฐกิจในปีที่แล้วได้รับอานิสงส์ที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่นานาชาติเข็นมาตรการออกมารับมือ

ด้วยเหตุนี้รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด (Global Economic Prospects) ระบุว่า ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 4.1 ในปี 2565 ซึ่งเป็นมุมมอง “ในแง่ร้าย” มากกว่ารายงานเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 4.3 ในปี 2565 นี้

(Photo by ASHRAF SHAZLY / AFP)

เมื่อลงรายละเอียดเป็นรายประเทศ รายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตร้อยละ 3.7 ในปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์ปีก่อนที่ร้อยละ 5.6

ขณะที่จีน ซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจเบอร์สองของโลก เวิลด์แบงก์คาดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.1 ในปีนี้ ลดลงจากระดับร้อยละ 8 เมื่อปีที่แล้ว ส่วนประเทศกลุ่มยูโรโซน คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.2% ในปีนี้ ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.2 เมื่อปีก่อน

ส่วนญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 1.7 เป็นเพียงชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชาติที่เวิลด์แบงก์คาดการณ์เศรษฐกิจจะเติบโต และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะเติบโตที่ระดับร้อยละ 4.6 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 6.3

ด้วยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จากปัจจัยสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพบการแพร่ระบาดช่วงปลายปี 2564 ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจหลายชาติจะไม่เติบโตตามที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปีก่อน โดยการระบาดของโควิด-19 ที่สะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกตลอดปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวถึงร้อยละ 3.4 แต่ในปี 2564 รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายชาติเข็นมาตรการออกมาอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการมาของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเมื่อปีก่อน


อย่างไรก็ตาม นายมัลพาสยังเตือนถึงระดับความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชาติกลุ่มกำลังพัฒนา ที่รัฐบาลหลายแห่งขาดเม็ดเงินอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางราคาของสินทรัพย์อย่างหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อที่กระทบภาคครัวเรือน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพของคนรายได้น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะปัญหาเหล่านี้จะนำไปสู่ความไม่พอใจของคนในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา