ดาวเคราะห์น้อยใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตต โคจรผ่านโลกวันนี้

ดาวเคราะห์น้อยใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตท โคจรเฉียดโลก 18 ม.ค. นี้
ภาพจาก pixabay

ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ที่ใหญ่เป็น 2.5 เท่าของตึกเอ็มไพร์สเตตกำลังจะโคจรใกล้โลก 18 มกราคม 2565

วันที่ 18 มกราคม 2565 sciencealert รายงานว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ซึ่งมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สูงประมาณสองเท่าครึ่งของตึกเอ็มไพร์สเตต ทั้งยังถูกจัดให้อยู่ในประเภท ดาวเคราะห์ที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก (PHA) เนื่องจากมีขนาดและมีวงโคจรใกล้โลกเป็นประจำ จะโคจรผ่านโลกในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม การโคจรครั้งนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อโลก เพราะดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะเคลื่อนตัวออกไปในระยะทาง 1.93 ล้านกิโลเมตรจากโลก ซึ่งห่างจากดวงจันทร์ประมาณ 5.15 เท่า

การคำนวณวิถีโคจรดังกล่าวนั้น มีข้อผิดพลาดเพียง 133 กิโลเมตร ดังนั้นจึงไม่มีความเสี่ยงที่จะโคจรชนโลกในเร็ว ๆ นี้

นักดูดาวจะได้สัมผัสประสบการณ์ที่เยี่ยมยอดบนท้องฟ้า เพราะแนววงโคจรที่เฉียดใกล้โลกที่สุดจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2565 เวลา 21.51 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวถูกเรียกว่า “1994 PC1” ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1994 หรือ 2537 โดยนักดาราศาสตร์ โรเบิร์ต แม็กนอจ์ช ที่หอดูดาวไซด์ดิงสปริงในออสเตรเลีย

เมื่อย้อนไปดูเส้นทางโคจร นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นหาภาพของมันได้ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2517 ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมั่นใจเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้

อันที่จริงแล้ว ดาวเคราะห์น้อย 1994 PC1 มีส่วนโค้งโคจรเพียง 47 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างการสังเกตการณ์บนท้องฟ้ายามค่ำคืน

การโคจรเข้าใกล้โลกครั้งสุดท้ายคือ 89 ปีที่แล้ว ในวันที่ 17 มกราคม 2476 ที่ระยะโคจรใกล้กว่าเล็กน้อย แต่ยังคงปลอดภัยมากที่ 1.1 ล้านกิโลเมตร ครั้งต่อไปที่จะโคจรใกล้โลกคาดว่าจะอยู่ช่วงวันที่ 18 มกราคม 2648

การเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกครั้งนี้ จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยประเภท S ซึ่งเป็นหินที่อยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยอพอลโล นี่คือกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่พบบ่อยที่สุดที่เรารู้จัก และพวกมันทั้งหมดมีความยาววงโคจรใกล้เคียงกับโลก ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อย 1994 PC1 โคจรรอบดวงอาทิตย์ทุก 1 ปี 7 เดือนของเวลาโลก ในระยะห่าง 0.9 ถึง 1.8 เท่าของโลก

การโคจรดังกล่าวยังช่วยให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่นและนักดูดาวมีโอกาสได้เห็นหินก้อนใหญ่พุ่งทะยานผ่านโลกได้อีกด้วย

ดาวเคราะห์น้อยจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 19.59 กิโลเมตรต่อวินาที (43,754 ไมล์ต่อชั่วโมง) เมื่อเทียบกับโลก ซึ่งหมายความว่ามันจะดูเหมือนกับดาวฤกษ์ แต่จะเดินทางข้ามทองฟ้ายามค่ำคืนในตอนเย็น

แต่ดาวเคราะห์น้อยระดับ 10 จะสลัวเกินกว่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือกล้องส่องทางไกล แต่ถ้าหากมีกล้องโทรทรรศน์หลังบ้านขนาด 6 นิ้วเป็นอย่างน้อย ก็อาจจะเห็นในขณะที่มันเคลื่อนผ่านได้

มีการคาดการณ์ว่า ดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่ขนาดนี้อาจจะชนโลกทุก ๆ 6 แสนปีหรือมากกว่า แต่นาซากำลังทดสอบภารกิจ DART (Double Asteroid Redirection Test) ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การหักเหเส้นทางดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กโดยการชนเข้ากับมัน

หากทำได้ ก็อาจะช่วยหักเหเส้นทางจากภัยของดาวเคราะห์น้อยในอนาคตได้