จับตาเศรษฐกิจยุโรป โตแซง “สหรัฐ” ด้วยนโยบายผ่อนคลายต่อ

เศรษฐกิจยุโรป
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

แม้จะเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ครั้งใหญ่กว่าเดิมของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าอีกประมาณ 2 เดือน ประชากรยุโรปจะติดเชื้อเกินครึ่ง อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของนักวิเคราะห์จาก “โกลด์แมน แซกส์” เชื่อว่าในอีก 2 ปี เศรษฐกิจของชาติยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) 19 ประเทศ จะเติบโตแซงหน้าอเมริกา ถึงแม้ว่าในระยะใกล้ภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปอาจจะเผชิญความท้าทายอยู่บ้างก็ตาม

โกลด์แมน แซกส์ ระบุว่า ในปีนี้เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 4.4% สหรัฐอเมริกา 3.5% ส่วนปีหน้ายุโรปจะอยู่ที่ 2.5% เทียบกับอเมริกาซึ่งจะเติบโต 2.2% โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้ยุโรปเติบโตดีกว่าอเมริกา ประกอบด้วย 2 ประการคือ 1.ปีนี้ยุโรปบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ได้ดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดใช้วิธีล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ใน 2-3 สัปดาห์แรกของปีนี้ ยุโรปสามารถป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถูกกระทบกระเทือนเกินไป

ประการที่ 2.นโยบายการคลังของยุโรปจะยังคงผ่อนคลายและอำนวยความสะดวกต่อเศรษฐกิจในปีนี้ ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อหลังจากเศรษฐกิจดีดตัวแข็งแกร่ง คาดว่าในระยะข้างหน้ารัฐบาลยูโรโซนจะลงทุน
ก้อนใหญ่ภายหลังจากมีมติพ้องกันที่จะใช้วงเงินราว 7.5 แสนล้านยูโร อัดฉีดเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ซึ่งเงินจำนวนนี้เริ่มมีการนำไปใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว และจะต่อเนื่องไปตลอดปีนี้

ขณะที่ในฟากขอสหรัฐอเมริกานั้น แม้ “โจ ไบเดน” จะประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ แต่สมาชิกคองเกรสยังมีความเห็นแตกต่างกัน จึงทำให้นโยบายการคลังภายใต้แผนนี้ยังไม่มีความแน่นอน

ในส่วนของประเทศจีน ซึ่งเคยมีการเติบโตโดดเด่นในช่วงการระบาดรอบแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้น โกลด์แมน แซกส์ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของจีนในปีนี้ลงจาก 4.8% เหลือ 4.3% เนื่องจากเห็นว่าจีนมีนโยบายเข้มงวดมากในการสกัดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังจากพบการติดเชื้อในหลายเมือง เช่น เทียนจิน อันยาง เหอหนาน จนมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์บางส่วน ส่วนบางเมืองเช่นซีอานถูกล็อกดาวน์มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

การที่จีนมีแนวโน้มจะใช้ความเข้มงวดระดับสูงเพื่อสกัดการแพร่ระบาด จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ อีกทั้งต้นทุนการทำธุรกิจจะสูงขึ้น ภาคการบริโภคจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงปรับลดคาดการณ์จีดีพีลง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของจีนน่าจะได้รับผลกระทบน้อย และคาดว่ารัฐบาลจีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากมาตรการคุมโควิด เชื่อว่าผลกระทบ
ทางลบจะเกิดขึ้นมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เท่านั้น

นโยบายเกี่ยวกับโควิด-19 ของจีน ค่อนข้างตรงข้ามกับชาติอื่น โดยจีนมีนโยบายว่าโควิดต้องเป็น “ศูนย์” ขณะที่ชาติอื่น ๆ รวมทั้งอเมริกาและยุโรป มีนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนจะใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์เพื่อคุมการระบาดไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จะมีการประชุมที่คาดว่าจะมีมติให้ “สี จิ้นผิง” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3

ขณะเดียวกันในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการประชุมประจำปีสภาประชาชนจีน ที่คาดว่าจะมีการแถลงเป้าหมายเศรษฐกิจปีนี้ว่าจะเติบโต 5% ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เชื่อว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ตลอดจนปัญหาอื่น เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชำระหนี้จนกระทบต่อการเติบโต ทำให้จีนถูกมองว่าในปีนี้จะใช้นโยบายการเงินการคลังตรงข้ามกับสหรัฐ กล่าวคือ ในขณะที่สหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยและลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด จีนจะทำตรงข้าม