“เจพีมอร์แกน” ทุ่ม 4 แสนล้าน ลงทุนเทคแข่งตลาด “ฟินเทค”

เจพีมอร์แกน

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ “ฟินเทค” เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิม ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกค้าไปให้กับคู่แข่งหน้าใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหนือกว่า สถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ที่เคยครองตลาดมาอย่างยาวนานจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันบนโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า “เจพีมอร์แกนเชส” (JPMorgan Chase) สถาบันทางการเงินและการลงทุนรายใหญ่ระดับโลกของสหรัฐอเมริกา วางแผนลงทุนด้านเทคโนโลยีและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทในปี 2022 สูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) โดยแผนลงทุนด้านเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนรายจ่ายประจำปี 2022 รวมทั้งสิ้น 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 8% จากปี 2021

ทั้งนี้ รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2022 ของเจพีมอร์แกน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าจ้างและเงินชดเชยต่าง ๆ สำหรับบุคลากรในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแผนเพิ่มการลงทุนใหม่อีก 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ารายจ่ายด้านการลงทุนในปี 2021 ถึง 30%

อย่างไรก็ตาม รายจ่ายด้านเทคโนโลยี 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของเจพีมอร์แกนถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะจัดสรรเม็ดเงินสำหรับการพัฒนาศูนย์ข้อมูล (data centres) และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) ของบริษัท รวมถึงต้นทุนทางการตลาดสำหรับการขยายสู่ตลาดใหม่อย่างสหราชอาณาจักร

การที่เจพีมอร์แกนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้หลักที่มาจากการทำดีลข้อตกลงทางธุรกิจ (dealmaking) เช่น การลงทุน เข้าซื้อ หรือควบรวมกิจการ เริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซาไม่สามารถทำกำไรได้อย่างงดงามเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเงินก็เป็นแรงกดดันสำคัญต่อสถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ ด้วยคู่แข่งหน้าใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นแทบทุกวัน พร้อมกับศักยภาพในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า

โดยปัจจุบันต้องเผชิญความท้าทายจากคู่แข่งที่น่ากลัว อย่างเช่น “สไตรป์” (Stripe) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ประมวลผลทางการเงิน ที่กำลังขยายตัวในกลุ่มลูกค้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ “อัฟเฟิร์ม โฮลดิ้งส์” (Affirm Holdings) ผู้ให้บริการเงินกู้สำหรับผู้บริโภครายย่อย และ “ไชม์ ไฟแนนเชียล” (Chime Financial) ธนาคารออนไลน์ที่ฟรีค่าธรรมเนียมและไม่มีธนาคารสาขา แต่มีผู้ใช้บริการกว่า 12 ล้านรายในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้เป็นแรงกดดันให้สถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ต้องเร่งปรับตัว

“เจเรมี บาร์นัม” ซีเอฟโอของเจพีมอร์แกนระบุว่า ขณะนี้เจพีมอร์แกนอยู่ใน “ช่วงเวลาของการเร่งความเร็ว” โดยส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการแข่งขันในตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากผู้แข่งขันรายใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้น

ไม่เพียงแต่เจพีมอร์แกนเท่านั้น สถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น โกลด์แมน แซกส์, มอร์แกน สแตนเลย์, แบงก์ออฟอเมริกา และซิตี้กรุ๊ป ต่างก็มีแนวโน้มรายจ่ายด้านเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของเจพีมอร์แกน ก็สร้างความกังวลให้กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากมองว่าอาจทำให้ผลประกอบการตลอดทั้งปี 2022 ออกมาไม่ดีนัก เมื่อเทียบระหว่างรายได้กับรายจ่าย แต่ผู้บริหารของเจพีมอร์แกนยืนยันว่า การลงทุนในเทคโนโลยีจะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงในอนาคต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

“คริส โคโตวสกี” นักวิเคราะห์ทางการเงินจากธนาคารเพื่อการลงทุนออพเพนไฮเมอร์ แอนด์ โค. ระบุว่า ผู้ถือหุ้นอาจไม่สามารถแยกระหว่างรายจ่ายเพื่อการลงทุนและรายจ่ายทั่วไปของบริษัทได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปีจึงจะเห็นผลประโยชน์จากการลงทุนอย่างชัดเจน