ปักกิ่ง มลพิษต่ำสุดรอบ 8 ปี จีนเดินหน้าใช้พลังงานสะอาด

Photo by Noel Celis / AFP

จีนบรรลุเป้าขจัดมลพิษ ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงปักกิ่งลดลงน้อยสุดรอบ 8 ปี วันค่าอากาศดีถึง 288 วัน เดินหน้าใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

วันที่ 19 มกราคม 2565 อวี๋เจี้ยนหัว รองผู้อำนวยการสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเทศบาลกรุงปักกิ่ง เปิดเผยเมื่อ 4 ม.ค.ว่า กรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จในการบำบัดมลพิษทางอากาศ หลังผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของเมืองบรรลุมาตรฐานแห่งชาติ

อวี๋กล่าวว่า ในปี 2021 ค่าความหนาแน่นเฉลี่ยของฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) ของกรุงปักกิ่ง อยู่ที่ 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี 2013

ขณะที่ค่าความหนาแน่นเฉลี่ยของก๊าซโอโซนปักกิ่งลดลงมาอยู่ที่ 149 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นครั้งแรกที่ค่าของฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และก๊าซโอโซนของปักกิ่งแตะระดับ 2 ตามมาตรฐานมลพิษทางอากาศระดับชาติพร้อมกัน ส่วนความหนาแน่นของฝุ่นพีเอ็ม 10 (PM 10) ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปีที่แล้ว อยู่ที่ 55, 26 และ 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งมีวันที่มีคุณภาพอากาศดี ถึงจำนวน 288 วัน เพิ่มขึ้น 112 วัน จากปี 2013 และมีวันที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงเพียง 8 วันเท่านั้น

ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้เปิดเผยเมื่อ 17 ม.ค. ว่า การผลิตไฟฟ้าของจีนแตะ 8.11 ล้านล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบปีต่อปี และสูงกว่าปี 2019 ราวร้อยละ 11 ทำให้การเติบโตเฉลี่ยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 5.4

ทางการจีนยังระบุว่า การผลิตไฟฟ้าเฉพาะเดือนธันวาคมปีก่อนลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 7.23 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนนี้แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนลดลงร้อยละ 4.9 และพลังงานน้ำลดลงร้อยละ 6.8 แต่ผลผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 และพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

กระแสการใช้พลังงานสะอาดของจีนเพื่อบรรลุเป้าการลดค่ามลพิษ ไม่จำกัดเฉพาะในเขตเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ความเจริญทางด้านการใช้พลังงานสะอาดยังแผ่ขยายไปถึงกลางทะเลทรายอันเวิ้งวางห่างไกลของประเทศ

ที่ทางหลวงแอ่งทาริมในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ความยาว 566 กิโลเมตร ซึ่งทางหลวงเส้นดังกล่าว แม้สร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2005 แล้วนั้น กำลังจะมีความคืบหน้าอีกครั้ง จากการที่ภาคเอกชนของจีน ดำเนินการปลูกต้นไม้ตลอดแนวความยาวของถนนกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อเป็นปราการ “กำแพงสีเขียว” สำหรับป้องกันไม่ให้ทางหลวงสายนี้ถูกเนินทรายพัดกลบไปตามธรรมชาติ

บริษัทบ่อน้ำมันทาริม (Tarim Oilfield) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสร้างกำแพงสีเขียวดังกล่าว ได้นำพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการสูบและรดน้ำต้นไม้ตลอดแนวความยาวของถนน

สถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 86 แห่งตามแนวทางหลวงคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคมปีนี้ สถานีไฟฟ้าพลังงานสะอาดเหล่านี้ซึ่งใช้แทนที่การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล จะช่วยให้พลังงานในการสูบน้ำบาดาลเพื่อรดต้นไม้สองข้างทาง

เฉินเหวิน เจ้าหน้าที่จากบริษัทกล่าวว่า เมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ สถานีไฟฟ้าทั้ง 86 แห่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับบ่อเก็บน้ำ 98 แห่งตามแนวทางหลวงผ่าทะเลทรายสายนี้ โดยพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เหล่านี้จะลดการใช้น้ำมันดีเซลต่อปีมากกว่า 1,000 ตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีราว 3,410 ตัน