ในงานสัมมนาของฮิวแมนไรท์วอทช์มีการเตือนนักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งว่า อย่าพูดประเด็นสิทธิมนุษยชน
วันที่ 19 มกราคม 2565 แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า นักกีฬาที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ได้รับคำเตือนเกี่ยวกับการพูดในประเด็นสิทธิมนุษยชนระหว่างอยู่ที่จีน เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ภายในงานสัมมนาที่จัดโดยฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)
กลุ่มสิทธิมนุษยชนดังกล่าววิจารณ์คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มานานแล้ว เรื่องการตัดสินให้จีนเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก โดยอ้างถึงสิ่งที่รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ และกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมอื่น ๆ ซึ่งสหรัฐลงความเห็นว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ยังไม่มีการปกป้องมากพอ ที่ทำให้เราเชื่อว่าจะครอบคลุมถึงนักกีฬา” ร็อบ โคห์เลอร์ ผู้อำนวยการทั่วไปของกลุ่มโกลบอล แอตลีต (Global Athlete) กล่าวในงานสัมมนา พร้อมระบุว่า “ความเงียบคือการสมรู้ร่วมคิด และนั่นคือสาเหตุที่เรากังวล”
“เราจึงแนะนำนักกีฬาว่าอย่าพูด เราต้องการให้พวกเขาร่วมการแข่งขัน และส่งเสียงเมื่อถึงบ้านแล้ว”
กฎบัตรโอลิมปิกข้อที่ 50 ระบุว่า ห้ามแสดงออกทางการเมือง ศาสนา หรือปลุกเร้าเรื่องชาติพันธุ์ใด ๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ หรือสถานที่อื่น ๆ
“หยาเฉา หวัง” นักวิจัยอาวุโสทางด้านมนุษยธรรมในจีนของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า กฎหมายจีนมีความคลุมเครือมากในประเด็นเกี่ยวกับอาชญากรรม ซึ่งสามารถใช้ฟ้องร้องในข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางการพูดได้
“ประชาชนสามารถถูกตั้งข้อหาชวนทะเลาะวิวาทหรือยั่วยุให้เกิดปัญหา คดีอาชญากรรมสามารถเกิดขึ้นได้ แม้เป็นการกระทำโดยสันติ หรือการวิพากษ์วิจารณ์”
“โนอาห์ ฮอฟฟ์แมน” นักกีฬาสกีวิบาก ซึ่งเป็นตัวแทนสหรัฐฯ เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2014 และโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 กล่าวว่า ทีมนักกีฬาชาวอเมริกันจะปกป้องตัวเองจากคำถามประเด็นสิทธิมนุษยชน
“ผมรู้สึกกังวลเรื่องที่เพื่อนร่วมทีมจะเดินทางไปจีน” ฮอฟฟ์แมนกล่าว และว่า “ผมรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมของผมจะปกป้องตัวเองจากคำถามที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อความปลอดภัยของพวกเขา”
“เราไม่ควรจะต้องปกป้องนักกีฬาจากการพูดถึงประเด็นที่พวกเขาคิดว่ามีความสำคัญมาก”
“สำหรับนักกีฬา ผมหวังให้พวกเขานิ่งเงียบ เพราะไม่เพียงแต่จะถูกทางการจีนดำเนินคดีเท่านั้น แต่พวกเขาอาจถูกลงโทษจาก IOC ด้วย”
ความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวและการสอดแนมในระหว่างการแข่งขัน ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เมื่อแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนที่จีนเป็นผู้พัฒนาเพื่อตรวจสอบสุขภาพของผู้เข้าร่วมงาน ถูกรายงานว่ามีข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย
“เมื่อพูดถึงการสอดส่อง เรารู้ว่ามันมีอยู่” โคห์เลอร์กล่าว และว่า “มีเหตุผลที่หลายประเทศออกมาเปิดเผย และขอร้องให้นักกีฬาไม่นำอุปกรณ์มือถือของตัวเองไป ใครก็ตามที่มีสติดีและได้ยินเรื่องนี้เข้า จะต้องเป็นกังวล”
ขณะที่ IOC ตอบคำถามรอยเตอร์สทางอีเมล์ว่า IOC ให้การยอมรับและสนับสนุนในสิทธิมนุษยชน ทั้งตามหลักการพื้นฐานของกฎบัตรโอลิมปิกและตามจรรยาบรรณของ IOC ตลอดเวลา
โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่หลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตการแข่งขันนี้ เนื่องจากความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในจีน
- จีนเตือนประเทศคว่ำบาตรโอลิมปิกปักกิ่ง ต้อง “ชดใช้”
- จีนเร่งคุม “โอมิครอน” ในประเทศ เข้มจัดโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ระบบปิด
-
จีนล็อกดาวน์ออฟฟิศในกรุงปักกิ่ง หลังพบพนักงานติดโอมิครอน 1 ราย