เมืองหลวงใหม่ อินโดฯ นครในฝันปั้นฮับเศรษฐกิจดิจิทัล

สิงหาคม 2019 ประธานาธิบดี “โจโก วิโดโด” หรือ “โจโกวี” กล่าวในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เนื่องในโอกาสครบรอบ 74 ปี เอกราชอินโดนีเซีย เผยแผนการย้ายเมืองหลวงออกจาก “กรุงจาการ์ตา” ไปยังพื้นที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว เป็นครั้งแรก

“ผมขอแจ้งถึงแผนย้ายเมืองหลวงไปยังกาลิมันตัน เมืองหลวงใหม่ของเราจะไม่เป็นเพียงสัญลักษณ์สะท้อนเอกลักษณ์ประจำชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นความก้าวหน้าของประเทศ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เมืองหลวงใหม่จะเป็นเมืองของทุกคน ที่เน้นพลังงานสะอาดบนพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ”

“เกินเยียวยา” คือนิยามสั้น ๆ ถึงเหตุผลที่ต้องย้ายจากจาการ์ตา มหานครที่เผชิญปัญหาเรื้อรัง ตั้งแต่ธรณีทรุด มลพิษ รถติด ความแออัด และโครงสร้างพื้นฐานไม่ครอบคลุม โดย “จาการ์ตา” มีสถานะเป็นเมืองหลวงของอินโดนีเซียตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1949 ก่อนหน้านั้นรู้จักในชื่อ “ปัตตาเวีย”

หากนครนิวยอร์กมีชื่อเล่นว่า “บิ๊กแอปเปิล” กรุงจาการ์ตาก็มีชื่อเล่นว่า “บิ๊กทุเรียน” ทว่าแผนสร้างเมืองในฝันต้องสะดุดลงเมื่อประเทศเผชิญวิกฤตโควิด-19 ระบาด

กระทั่ง 19 ม.ค. 2022 หลังสภาอนุมัติ แผนเนรมิตเมืองหลวงในฝันจึงคืบหน้าอีกครั้ง พร้อมเปิดชื่อว่า “นูซันตารา” (Nusantara)

เกาะบอร์เนียว ถือเป็นพื้นที่ห่างไกลที่ยังอุดมด้วยทรัพยากร รอวันนำมาใช้ ทั้งแร่ธาตุ ถ่านหิน และปาล์มน้ำมัน จึงมีศักยภาพสูงดึดดูดนักลงทุน ทั้งยังอยู่ติดกับประเทศบรูไน รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวักของมาเลเซีย ที่กำลังจะได้อานิสงส์จากแผนนี้

แม้มีเสียงวิจารณ์จากนักสิ่งแวดล้อมว่าเมืองใหม่จะคุกคามป่าฝนเก่าแก่ แต่ไอเดียของผู้นำอินโดฯเล็งให้ “นูซันตารา” ไม่เป็นเพียงที่ตั้งหน่วยงานราชการ แต่ยังต้องเป็นเมืองเน้นความยั่งยืนบนพื้นฐานสมาร์ทซิตี้ ผ่านการฉายภาพเมืองใหม่ฐานะ “ซูเปอร์ฮับ” คาร์บอนต่ำ สนับสนุนภาคเกษตร สุขภาพ และเทคโนโลยี ผ่านอุตสาหกรรมที่เน้นความยั่งยืน

“สิ่งที่เราต้องการคือสมาร์ทซิตี้แห่งใหม่ เป็นแม่เหล็กดึงดูดสตาร์ตอัพ เศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองได้รับการออกแบบให้ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ โครงสร้างพื้นฐานที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม หลุดจากเงาของความแออัด เป็นเมืองที่สะอาด สร้างนวัตกรรมและการศึกษาระดับโลก” ผู้นำอินโดฯกล่าวเมื่อ 17 ม.ค. 2022

“มุลยานี อินทราวตี” รมว.คลังอินโดฯ เผยว่า การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่แบ่งเป็น 5 ระยะ เฟสแรกเริ่มในปีนี้ เน้นการปรับพื้นที่เปิดทางเข้าถึง ส่วนการสร้างถนนหรือท่าเรืออยู่ในช่วง 2022-2024 ระยะสุดท้ายกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2045 หมายความว่า เมืองหลวงใหม่จะเสร็จใน 23 ปีข้างหน้า

เมืองนูซันตาราจะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ผังเมืองออกแบบให้ 80% ของเมืองเข้าถึงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ที่ทำการรัฐบาลจะเป็นรูปร่างในปี 2030 พร้อมทยอยย้ายมายังเมืองหลวงใหม่

โรดแมปทั้ง 5 ระยะยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด หลังแล้วเสร็จเชื่อว่าสามารถสร้างงานได้มากถึง 1.3 ล้านตำแหน่ง กระจายความเจริญออกนอกพื้นที่เกาะชวาและสุมาตรา อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์นี้ยังได้รับความสนใจจากต่างชาติโดยจีนต้องการออกแบบภูมิทัศน์ในเมืองและแผนจัดการน้ำ สหรัฐต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและสะพาน ส่วนญี่ปุ่นสนใจลงทุนด้านระบบขนส่งและพลังงาน

บลูมเบิร์กเคยวิเคราะห์ว่า มีแนวโน้มที่เมืองหลวงใหม่อินโดฯจะประสบความสำเร็จกว่า บราซิเลียของบราซิล และเนปยีดอว์ของพม่า เนื่องจากอินโดฯยังมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมาก เป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพยูนิคอร์นแล้วถึง 4 บริษัท คือ Traveloka, Go-Jek, Bukalapak และ Tokopedia ถือเป็น 4 ใน 7 สตาร์ตอัพที่ใหญ่สุดของอาเซียน

งบผูกพันคือสิ่งที่การสร้างเมืองใหม่ต้องคำนึงเป็นหลัก และโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องเปลี่ยนจากการเน้นพัฒนาโดยรัฐวิสาหกิจไปเป็นโมเดลรูปแบบอื่น ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีบทบาทสูงในการพัฒนาประเทศ แต่ชาวอินโดฯมีอดีตไม่ค่อยดีเท่าไหร่กับภาคเอกชน จากกรณีอดีต ปธน.ซูฮาร์โต ผู้ครองอำนาจนาน 32 ปี ให้สัมปทานต่างชาติเข้าถึงพื้นที่ทรัพยากรในประเทศ กระทั่งสัมปทานเหล่านี้พังทลายช่วงปี 1998 จากวิกฤตการเงินเอเชีย

ทั้งนี้ ตามแผนแม้หน่วยงานราชการจะย้ายไปเมืองหลวงใหม่ ทว่ากรุงจาการ์ตายังคงมีสถานะศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจด้านอื่นต่อไป

แผนการย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังมีเรื่องต้องติดตามอีกมาก ซึ่งรวมถึงการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้จะกลายเป็นโมเดลต้นแบบ หรืออาจพลิกเป็นชนวนปัญหาในอนาคตกันแน่