“กูรู” วิพากษ์แผนลดภาษีมะกัน “เตะหมู” เข้าปาก “จีน-เยอรมนี”

หลังจากลุ้นกันมาหลายยก ในที่สุดก็ผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไปแล้ว สำหรับร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีทั้งการปรับลดทั้งภาษีสำหรับภาคธุรกิจ หรือนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา นัยว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทว่าก็มีเสียงวิจารณ์ในหมู่ชาวอเมริกันเองว่า มุ่งช่วยคนรวยมากกว่า ขณะที่คนชั้นกลางไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยตามหลักการโดยทั่วไป การปรับลดภาษีของรัฐบาลใด ๆ ก็ตาม มีจุดประสงค์เพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้เหลือไปใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจก็มีภาระต้นทุนน้อยลง มีกำไรมากขึ้น และมีการจ้างงานมากขึ้น แต่เนื่องจากวาระสำคัญของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้ประกาศไว้ คือลดขาดดุลการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศ

ดังนั้นในสายตาของผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.ไมเคิล อิวาโนวิช นักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก จึงเห็นว่า แผนปฏิรูปภาษีครั้งนี้ของทรัมป์ เป็นการมอบของขวัญมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับสหรัฐมาก ไม่ว่าจะเป็นจีน เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ประเทศล้วนเป็นประเทศที่ทรัมป์ส่งเสียงขู่เล่นงานมาโดยตลอดนับตั้งแต่รับตำแหน่ง

เหตุที่ ดร.อิวาโนวิชเชื่อว่า การลดภาษีดังกล่าวจะกลายเป็นการมอบของขวัญให้กับประเทศคู่ค้าอย่างไม่ตั้งใจก็เพราะว่า เมื่อชาวอเมริกันเหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น และท้ายที่สุดก็จะต้องการซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากตามไปด้วย ซึ่งทั้งจีน เยอรมนี และญี่ปุ่นนั้น ต่างก็จ้องตาเป็นมัน อยากได้ออร์เดอร์จากลูกค้าอเมริกันเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันการที่ตลาดภายในประเทศขยายตัว แรงกดดันต่อภาคธุรกิจที่จะขายสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศก็ลดลง ผลลัพธ์ก็คือสหรัฐจะขาดดุลการค้ามากขึ้น โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น เกินดุลการค้าสหรัฐรวมกัน 3.72 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 ใน 3 ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในช่วงที่เหลือของปีจะขาดดุลมากขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นช่วงพีกของค้าปลีกที่จะมีความต้องการสินค้านำเข้ามากขึ้น

ดร.อิวาโนวิชชี้ว่า การปรับลดภาษีอย่างกว้างขวางเพื่อหวังผลทางการเมืองเช่นนี้ อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดทุกเมื่อ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ซึ่งความคาดหวังที่ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจนเสียสมดุลอันเนื่องจากมาตรการลดภาษี จะบังคับให้เฟดต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งนั่นก็จะทำให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลง

“น่าเศร้า ที่ตอนนี้ทุกอย่างดูเหมือนการโหมโรงไปสู่วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจตกต่ำลง จนอาจทำให้อเมริกาอยู่ในภาวะชะงักงันหลายปี”

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้แนะนำว่า ทางที่ดีที่สุดในการลดขาดดุลการค้าก็คือเพิ่มการส่งออกของสหรัฐ เพราะการลดภาษีซึ่งทำให้ตลาดภายในประเทศขยายตัว จะกลายเป็นรูรั่วการค้าที่ทำให้ประเทศที่เกินดุลการค้าอยู่แล้วได้ประโยชน์มากขึ้น และเมื่อสหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้น นอกจากจะทำให้สหรัฐมีหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับจีน เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักตึงเครียดกว่าเดิม

สำหรับร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนที่สภาผู้แทนฯและวุฒิสภา ต้องนำร่างของแต่ละฝ่ายที่ผ่านความเห็นชอบแล้วมาปรับแก้ร่วมกันเพื่อให้มีข้อยุติร่วมกัน เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่มีความเห็นต่างกัน ก่อนจะส่งให้ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

การลดภาษีครั้งมโหฬารในรอบ 3 ทศวรรษนี้ประเมินว่า จะทำให้รัฐบาลสหรัฐขาดรายได้ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้หนี้สาธารณะต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลอ้างว่าจะคุ้มค่า หากสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตปีละ 4%