โมเดลใหม่ “เวิลด์แบงก์” ลดเหลื่อมล้ำ “อีสต์เอเชีย”

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดรายงานฉบับล่าสุด “Riding the Wave : An East Asian Miracle for the 21th Century” ซึ่งวิเคราะห์วิถีทางการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และแนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมในระยะยาว หลังจากภูมิภาคดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และขจัดความยากจนในภูมิภาคได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภายใต้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงขึ้น ก็ยังมี “ความเหลื่อมล้ำ” ที่สูงอยู่ไม่น้อย

“ดร.แคทเธอลีนา เลเดอร์ชิ” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก จากการพึ่งพาภาคส่งออก สามารถขจัดกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนไปได้กว่า 40% หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของทั้งหมด ทำให้ประชากรส่วนมากในภูมิภาคนี้อยู่ในสถานะที่ดูแลตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เกิดขึ้นจากการส่งออกที่อาศัยแรงงานด้อยฝีมือ ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน กล่าวคือ ไม่สามารถดันเศรษฐกิจให้เติบโต “เร็ว” ได้อีกต่อไป เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศขาดแคลนแรงงานจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย

ขณะเดียวกัน การพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (urbanization) อย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดความแออัด เกิดปรากฏการณ์รวยกระจุก จนกระจาย นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำสูง ถึงแม้ว่าผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่หากเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะไม่สามารถดูแลตนเอง ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางถือเป็นกลุ่มที่ออกนอกระบบการบริการทางสังคมต่าง ๆ และหันไปจ่ายเงินให้กับเอกชน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เรียกร้องบริการทางสังคมที่ดีเพื่อส่วนรวม ดังนั้นแต่ละประเทศจึงควรมีกรอบนโยบายใหม่เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

รายงานเวิลด์แบงก์ฉบับนี้จึงได้นำเสนอโมเดลการพัฒนาใหม่ แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม และมีความท้าทายสำคัญคือ “ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ” คือ 1.การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับผู้มีรายได้น้อย (economic mobility) เพื่อส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคมของคนที่มีรายได้น้อยหรือคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

2.การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ (economic security) เช่น การปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ การมีระบบออมสำหรับผู้สูงวัย การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ 3.การเสริมสร้างความเข้มแข็งในเชิงสถาบัน เช่น ปรับปรุงระบบภาษี การสร้างความเป็นธรรมไม่ให้ใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร การวางแผนสังคมผู้สูงวัยในระยะยาว และการปรับปรุงสถาบันการศึกษา

“ปรเมธี วิมลศิริ” เลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รายงานเวิลด์แบงก์ฉบับนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายระยะยาวในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีคนจนใต้เส้นความยากจน 7 ล้านคน ยังถือเป็นความท้าทายที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามในเรื่องของการสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มคนรายได้น้อย คิดว่าประเทศไทยมีมาตรการรองรับตรงนี้ค่อนข้างมาก เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือสิทธิ์ต่าง ๆ ของสตรีตั้งครรภ์ ขณะที่ในด้านการปฏิรูปสถาบัน ประเทศไทยก็มีความพยายามในการเก็บภาษีให้เท่าเทียมกันมากขึ้น และยอมรับว่าต้องมีการทบทวนกรอบมาตรการในส่วนสถาบันการศึกษา

ส่วนเรื่องการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย คิดว่าประเทศไทยต้องทำเพิ่มขึ้น เพื่อหาตัวขับเคลื่อนที่สร้างความเท่าเทียมกันมากขึ้น ในเชิงยุทธศาสตร์เราได้ตั้งเป้าหมายจะช่วยให้คนรายได้น้อย 40% ของประเทศ คิดเป็น 30 ล้านคน เติบโตมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ” ปรเมธีกล่าว

ด้าน “สมชาย จิตสุชน” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เห็นด้วยกับรายงานที่ว่า โมเดลพัฒนาเก่าต้องถูกทดแทนด้วยโมเดลที่ได้ผลมากกว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของประเทศไทยในการกระจายรายได้คือ โมเดลพัฒนาของไทยมักเกิดขึ้นในพื้นที่ท่าเรือเท่านั้น นอกจากนี้อำนาจทางการเมืองมักกระจุกอยู่ในเมืองหลวง ไม่กระจายไปสู่ท้องถิ่น

“สิ่งสำคัญเพื่อการกระจายความเจริญ คืองบประมาณท้องถิ่นต้องเพิ่ม ท้องถิ่นต้องเก็บภาษีด้วยตัวเองได้ ถ้าอำนาจถูกกระจายออกไป การทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองน่าจะลดลง การพัฒนาท้องถิ่นน่าจะเพิ่มขึ้น”

ขณะเดียวกัน การผูกขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากคนรวยบางกลุ่ม ที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่โปร่งใส ถือเป็นการกัดกร่อนการพัฒนาประเทศอย่างมาก ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการในการลงโทษคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนที่รวยขึ้นมาโดยสุจริต ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ แต่ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานของเวิลด์แบงก์ฉบับนี้ ได้แบ่งกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไว้ 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มประเทศที่ขจัดความยากจนได้ในชั้นนำ และมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไทย และมาเลเซีย 2.กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาชนชั้นกลางขึ้นมา แต่ยังคงต้องระดมทรัพยากรเพื่อดูแลคนจำนวนมากที่ยังมีสถานะไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ได้แก่ มองโกเลีย จีน และเวียดนาม 3.กลุ่มประเทศที่ชนชั้นกลางยังมีกลุ่มน้อยอยู่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย 4.กลุ่มประเทศที่คนจนยังชุกสูง และต้องเน้นการศึกษาเพื่อขจัดความยากจน ได้แก่ ติมอร์เลสเต ปาปัวนิวกินี และลาว และ 5.กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ที่มีความท้าทายแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เนื่องจากต้องวางแผนการจัดการความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ