“แฟมิลี่ มาร์ท” ดิ้นปรับตัว เปิดโมเดลใหม่ “ฟิตเนส 24 ชั่วโมง”

การแข่งขันธุรกิจค้าปลีกในญี่ปุ่นรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ยอดขายประจำปีเคยแตะสูงสุดถึง 10 ล้านล้านเยน ในปี 2014 แต่ปัจจุบันก็เริ่มหดตัว ทำให้เชนร้านสะดวกซื้อทั้งหลายต้องพยายามดิ้นปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโต ทั้งการงัดสินค้าและบริการใหม่ ๆ มาดึงดูดผู้บริโภค พร้อมสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้า

“นิกเกอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า ร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศญี่ปุ่นราว 31 บริษัท มียอดขายประจำปีมากกว่า 10 ล้านล้านเยน หรือราว 79.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2014 และยอดขายในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หดตัวลงเล็กน้อยราว 0.2% เนื่องจากผู้บริโภคในญี่ปุ่นไม่ออกมาใช้จ่าย ทำให้ธุรกิจต้องดิ้นปรับตัวแข่งขันรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นยังมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 5.3% ในปีนี้ โดยเชนใหญ่สุดอย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” เปิดสาขาเพิ่มอีก 1,602 สาขา

ส่วน “ลอว์สัน” และ “แฟมิลี่มาร์ท” ก็เปิดให้บริการเพิ่มกว่า 1,000 สาขาเช่นกันรายงานยังระบุถึงยอดขายประจำปี 2016 ของ “ท็อปทรี” ร้านค้าสะดวกซื้อในญี่ปุ่น โดยเซเว่นอีเลฟเว่น มียอดขายอยู่ที่ 4 ล้านล้านเยน ตามด้วยแฟมิลี่มาร์ท 2 ล้านล้านเยน และลอว์สันอยู่ที่ 1.96 ล้านล้านเยน

นักวิเคราะห์เจแปน ไทม์รายงานว่า จากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญในการสร้าง “นิวโมเดล” ของเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เบอร์ 2 ของญี่ปุ่น อย่าง “แฟมิลี่มาร์ท”

โดยก่อนหน้านี้ แฟมิลี่มาร์ทได้ประกาศขยายบริการใหม่ติดตั้งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญใน 300 สาขา ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างรายได้เสริมแล้ว ยังอาจเป็นการเพิ่มโอกาสการขายสินค้ากับลูกค้าที่มาซักผ้า และล่าสุดก็ได้ประกาศขยายบริการพิเศษสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยจับมือกับเชนฟิตเนส “Fit & Go Gym” เปิดบริการฟิตเนสแบบ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะอยู่บนชั้น 2 ของร้านแฟมิลี่มาร์ท เพื่อตอบโจทย์ “เฮลตี้ ไลฟ์สไตล์” ของชาวญี่ปุ่น ที่หันมาออกกำลังกายในยิมมากขึ้น ซึ่งบริการดังกล่าวจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018

“Fit & Go Gym” ในแฟมิลี่มาร์ท จะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ภายในยิมจะมีพนักงานให้บริการเกือบตลอดทั้งวัน สำหรับช่วงดึกจนถึงเช้าตรู่ แม้ว่าจะไม่มีพนักงานประจำที่ยิม แต่ลูกค้าสามารถใช้บริการผ่าน “สมาร์ทโฟน แอปพลิเคชั่น” เพื่อศึกษาวิธีการออกกำลังกายให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ แฟลิมี่มาร์ทจะเปิดโมเดลธุรกิจใหม่สาขาแรก ที่เมืองโอตะ ในกรุงโตเกียว และวางเป้าหมายขยายโมเดลนี้ 300 สาขาภายใน 5 ปี โดยทำเลส่วนใหญ่จะพิจารณาในพื้นที่ชนบท และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ แฟมิลี่มาร์ทวางแผนขยายนิวโมเดลไปที่ “ฮ่องกง” เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและพฤติกรรมผู้บริโภคใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และไลฟ์สไตล์ของคนวัยทำงานในฮ่องกง นิยมใช้บริการร้านค้าสะดวกซื้อที่มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า “แฟมิลี่มาร์ท ยูนี โฮลดิ้ง” ในฮ่องกง กำลังทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อศึกษาตลาดฮ่องกง หลังจากที่แฟมิลี่มาร์ทได้เข้าซื้อกิจการ “ยูนี ฮ่องกง” เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้แฟมิลี่มาร์ทได้เข้าครอบครองร้านสะดวกซื้อในฮ่องกง 3 แบรนด์ ได้แก่ Apita, Piago และ Uny และหากผลศึกษาตลาดเรียบร้อย แผนการขยายธุรกิจของแฟมิลี่มาร์ทในฮ่องกง จะอยู่ภายใต้ 3 แบรนด์ดังกล่าว ซึ่งอาจนำโมเดลใหม่ในญี่ปุ่นมาปรับใช้ นักวิเคราะห์มองว่า เป็นวัฏจักรของการทำธุรกิจที่ต้องดิ้นรนหาทางรอด

และมองหาตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ เทียบกับในยุคห้างสรรพสินค้าบูม แต่พบว่ามีแพลตฟอร์มแบบเดียวกันทำให้ขาดความหลากหลายสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นในยุคใหม่การแข่งเดือดของ “คอนวีเนี่ยนสโตร์” การประลองกลยุทธ์ทางการตลาดจึงสำคัญ หากไม่เจ๋งจริงก็คงต้องล้มหายตายจากไป