ศึกชิงแรงงานอุตสาหกรรมชิป ‘ไต้หวัน’ แย่งซื้อตัว-มหา’ลัยเร่งเปิดหลักสูตร

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากประสบภาวะตกงาน แต่ไม่ใช่สำหรับบัณฑิตจบใหม่ด้านเทคโนโลยีของ “ไต้หวัน” ที่มีตำแหน่งงานมารองรับตั้งแต่ยังไม่ก้าวเท้าออกจากมหาวิทยาลัย เป็นผลมาจากความต้องการแรงงานมีทักษะที่สูงขึ้นของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในขณะนี้

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิป เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวันต่างเร่งเพิ่มกำลังการผลิต และมีความต้องการบุคลากรมากขึ้น

ยักษ์ใหญ่ในอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันอย่าง “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ปีนี้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 8,000 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับ “มีเดียเทก” (MediaTek) ผู้ผลิตชิปอีกรายที่มีเป้าหมายจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ตำแหน่ง ส่วน “ยูเอ็มซี” (UMC) ผู้ผลิตชิปอันดับ 4 ของโลกก็ตั้งเป้าจ้างงานแรงงานมีทักษะอีก 1,500 ราย

นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไต้หวัน ก็มีแผนจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่าง “เอเอสเอ็มแอล” บริษัทเครื่องมือผลิตชิปของเนเธอร์แลนด์ ก็เตรียมจ้างงานเพิ่มอีก 1,000 ตำแหน่ง

ขณะที่บริษัทอุปกรณ์ผลิตชิปของอเมริกัน “แอปพลายด์ แมทีเรียลส์” และ “เอนเตกริส” รวมถึง “เมอร์ค” บริษัทเครื่องมือผลิตชิปเยอรมัน ก็มีแผนจ้างบุคลากรอีกหลายร้อยตำแหน่งในปีนี้

แต่ความต้องการนี้สวนทางกับจำนวนบัณฑิตจบใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 116,000 คนในปี 2011 เหลือราว 92,000 คนในปี 2019 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของจำนวนประชากร

แม้ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 225,000 คนในปี 2019 เป็นกว่า 290,000 คนในปี 2021 ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน

แต่การสำรวจของ 104 Job Bank แพลตฟอร์มจัดหางานรายใหญ่ พบว่า มีตำแหน่งงานในอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังคงว่างอยู่มากถึง 34,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. 2021 เพิ่มขึ้นเกือบ 77% จากปี 2019

“ไช่ หมิงไค” ประธานของมีเดียเทก กล่าวว่า “การขาดแคลนแรงงานทักษะด้านชิประดับไฮเอนด์จะสร้างความท้าทายต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต”

ปัจจุบันการแข่งขันดึงดูดบุคลากรในอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันเป็นไปอย่างดุเดือด มีการเสนอรายได้ที่สูงกว่าเดิมตั้งแต่ 70% ไปจนถึง 2 เท่าของฐานเงินเดือนเดิม เพื่อแย่งชิงผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

ขณะที่บัณฑิตจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มงานในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์จะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยที่ 52,288 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเกือบเท่าตัว

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันได้มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการตั้งงบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับลงทุนด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า หนึ่งในนั้นคือการตั้งบัณฑิตวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นใหม่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 4 แห่ง

แต่ภาคธุรกิจมองว่าการดึงดูดแรงงานต่างชาติจะเป็นทางออกของปัญหานี้ “เค.เอส. ปัว” ซีอีโอของ “ไฟซัน อิเล็กทรอนิกส์” ผู้ผลิตตัวควบคุมชิปหน่วยความจำแฟลชชั้นนำระบุว่า “การขาดแคลนผู้มีความสามารถเป็นปัญหาเร่งด่วนและเราต้องเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซีย”

แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลไต้หวันจะผ่อนปรนข้อจำกัดเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติแต่ยังคงมีชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่มากนัก นับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่รัฐบาลไต้หวันต้องเร่งแก้ปัญหา