“เฟซบุ๊ก” ปรับโมเดลธุรกิจ ยอม “จ่ายภาษี” ให้แต่ละประเทศ

เป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของโลกโซเชียล เมื่อ “เฟซบุ๊ก” ยักษ์โซเชียลมีเดียประกาศบนเว็บไซต์เมื่อ 12 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทจะปฏิรูปโครงสร้างการ “จ่ายภาษี” เพื่อสร้างความโปร่งใสทางการค้าให้เกิดขึ้นในประเทศนั้น ๆ

ในยุคที่ยักษ์ใหญ่ในโลกเทคโนโลยีอย่าง “เฟซบุ๊ก-กูเกิล” เป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ เป็นประตูเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้มีเม็ดเงินโฆษณาไหลเข้าจำนวนมหาศาล และที่เป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างคือ “การหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษีให้กับประเทศที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น”

เนื่องจากบรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียได้ไปตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศที่เก็บภาษีน้อยกว่า เช่น ไอร์แลนด์ ที่เสียภาษีน้อยกว่าประเทศยุโรปอื่น ๆ ครึ่งหนึ่ง รวมถึงสิงคโปร์ ซึ่งมีมาตรการทางภาษีพิเศษให้กับบริษัทเทคโนโลยี ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการส่วนใหญ่ต้องชำระเงินไปยังสำนักงานต่างประเทศที่มีภาระภาษีน้อยกว่า

โดยที่เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียหลายรายไม่ได้จ่ายภาษีให้กับประเทศนั้น ๆ เลย หรือมีก็น้อยมาก เพราะกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจออนไลน์ยังมีช่องโหว่ ทำให้โซเชียลมีเดียหลายเจ้าเลือกที่จะใช้วิธีการดังกล่าว ทำให้มีกระแสกดดันและเรียกร้องจากประเทศต่าง ๆ มากขึ้น

แถลงการณ์ล่าสุดของเฟซบุ๊กระบุว่า เฟซบุ๊กได้ตัดสินใจเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจในประเทศต่าง ๆ โดยจะเป็นการบันทึกบัญชีการทำธุรกิจการค้าและบริการโดยตรงในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ
การจ่ายเงินให้กับออฟฟิศเฟซบุ๊กในประเทศที่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินไปที่สำนักงานกรุงดับลินอีกต่อไป ซึ่งทำให้เฟซบุ๊กจะต้องมีการจ่ายภาษีให้กับประเทศนั้น ๆ

“เราเชื่อว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพื่อให้เป็นโครงสร้างการซื้อขายแบบท้องถิ่นและสร้างความโปร่งใสกับรัฐบาลและผู้กำกับกฎหมายทั่วโลก ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อรายได้และชุมชนประเทศนั้น ๆ” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ระบุโดยเฟซบุ๊กระบุว่า จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจโฆษณาในปี 2018 และคิดว่าจะดำเนินการเรียบร้อยทั้งหมดได้ในครึ่งปีแรกของปี 2019

เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า การเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กครั้งนี้ น่าจะกระทบต่อตัวเลขรายได้ของเฟซบุ๊กใน 27 ประเทศ ที่เฟซบุ๊กมีแผนจะปรับโครงสร้างการจ่ายภาษี เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ โปแลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น และอาร์เจนตินา เป็นต้น หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ได้ออกมากดดันให้ยักษ์โซเชียลมีเดียปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการชำระภาษี โดยมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศใด ภาษีก็ควรจะจ่ายให้ประเทศนั้น ๆ

ทั้งนี้เฟซบุ๊กระบุว่า ในปี 2016 บริษัทมีการปรับโครงสร้างธุรกิจในบางประเทศแล้ว เพื่อให้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศนั้น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ออสเตรเลีย บราซิล และสหราชอาณาจักร

กรณีสหราชอาณาจักร ที่ผ่านมารายได้จากการขายโฆษณาส่วนใหญ่ไหลเข้าประเทศไอร์แลนด์เกือบทั้งหมด ซึ่งในปี 2014 มีรายงานว่าเฟซบุ๊กจ่ายภาษีให้รัฐบาลอังกฤษเพียงแค่ 4,327 ปอนด์ ทั้งที่รายได้น่าจะมากถึง 3.7 พันล้านปอนด์ นำมาซึ่งความไม่พอใจของคนในประเทศ และภายหลังการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของเฟซบุ๊กในอังกฤษ ทำให้ในปี 2015 เฟซบุ๊กได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลอังกฤษเพิ่มเป็น 4.2 ล้านปอนด์ และปี 2016 ที่ผ่านมาขยับเป็น 5.1 ล้านปอนด์ จากรายได้ 842 ล้านปอนด์

ไม่นานมานี้คณะกรรมาธิการยุโรปเอง ได้ออกมาระบุว่า ทางคณะกรรมาธิการได้พยายามกระชับช่องทางเพื่อที่จะให้บริษัทเทคโนโลยีหลาย ๆ ราย จ่ายภาษีในประเทศที่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้รายได้ของบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

เรื่องการเก็บภาษียังคงมีความซับซ้อนและมีกระบวนการอีกยาวไกล และหาข้อสรุปได้ยาก “เปรม สิกขา” จาก Universities of Sheffield and Essex ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า แม้เฟซบุ๊กจะประกาศปรับโมเดลธุรกิจโดยยอมจ่ายภาษีให้กับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลของบริษัทนั้น เก็บจากกำไรสุทธิ ซึ่งมีหลายวิธีการที่จะทำให้เกิดความสับสนว่า “กำไรคืออะไร”

ดังนั้นแถลงการณ์ล่าสุดของเฟซบุ๊กนั้นอาจเป็นเพียงความพยายามในการเอาใจสาธารณชนเท่านั้น ส่วนตัวมองว่า ในที่สุดแล้วการยกเครื่องโครงสร้างธุรกิจเพื่อจ่ายภาษีให้กับแต่ละประเทศจะกระทบกำไรเฟซบุ๊กเพียงเล็กน้อยเท่านั้น