“เฟด” ไม่เปลี่ยนแผนขึ้นดอกเบี้ย “ภาษีทรัมป์” ส่งผลจิ๊บจ๊อย

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% ตามที่ตลาดและนักลงทุนคาดการณ์ นับเป็นการปรับขึ้นรอบที่ 3 ของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับไปอยู่ในช่วง 1.25-1.5% ซึ่งถือว่ายังไม่มีอะไรช็อกตลาด เพราะสไตล์การทำงานของ “เจเน็ต เยลเลน” ประธานเฟด ที่กำลังจะหมดวาระในไม่ช้านี้ เป็นที่รับรู้ว่าค่อนข้างมีความแน่นอนและตรงไปตรงมา ไม่นิยมสร้างเซอร์ไพรส์ ทำให้ตลาดและนักลงทุนคาดการณ์ได้ค่อนข้างแน่นอน

สำหรับแผนขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า เฟดยังคงคาดการณ์ไว้ที่ 3 ครั้งเช่นเดิม ผิดไปจากความคาดหมายของนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่คาดว่า เฟดน่าจะส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจที่อาจร้อนแรงเกินไป หลังจากร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านความเห็นชอบจากสองสภาแล้ว และกำลังจะออกมาบังคับใช้

โดยเฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของปีหน้าค่อนข้างมาก จากเดิม 2.1% เป็น 2.5% เนื่องจากเศรษฐกิจสองไตรมาสล่าสุดขยายตัวติดต่อกัน 3% และคาดว่าไตรมาส 4 จะเติบโตในระดับเดียวกัน

ในส่วนของเงินเฟ้อ เฟดประเมินว่า ปีหน้าเงินเฟ้อจะเพิ่มเพียงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 1.7% จากเดิม 1.6% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เฟดยังคงแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งเท่าเดิม ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน

เชื่อว่า จากท่าทีและแถลงการณ์ของเฟดในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจลดการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าให้เหลือเพียง 2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี อยู่ที่ 1.8%

“เครก บิชอป” หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของอาร์บีซี เวลท์ แมเนจเมนต์ระบุว่า การที่เฟดยังคงยึดแผนการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า 3 ครั้งเท่าเดิม สะท้อนว่าเฟดไม่พร้อมจะใช้นโยบายการเงินตึงตัว ด้วยการเพิ่มความถี่ในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่หลายคนคาด

การตีความท่าทีของเฟดค่อนข้างมีความหลากหลาย เพราะนักวิเคราะห์บางคนก็มองว่า การที่เฟดยังยืนกรานจะลดขนาดงบดุลในเดือนมกราคม ปีหน้า เพิ่มจากเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับส่งสัญญาณว่า เฟดต้องการเพิ่มความตึงตัวด้านการเงิน และยังสะท้อนว่า เฟดค่อนข้างระมัดระวังในการหาหนทางที่สมดุลในการตอบสนองต่อภาพทางบวกของเศรษฐกิจ ซึ่งมีอัตราการเติบโตดี พร้อมกับอัตราการจ้างงานที่แข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อกลับอ่อนแออย่างต่อเนื่อง และคงเส้นคงวา สวนทางกับจีดีพีและอัตราการจ้างงานส่วนแผนการขึ้นดอกเบี้ยในปี ค.ศ. 2019

ยังคงเดิมที่ 3 ครั้งเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าในมุมมองของเฟด ต่อแผนการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ของรัฐบาล จะมีผลต่อเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยและเพียงระยะชั่วคราวเท่านั้น เห็นได้จากปี ค.ศ. 2019-2020 ที่เฟดประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงจากปี 2018 ไปอยู่ที่ระดับ 2%

โดย นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดระบุว่าแผนลดภาษีมีแนวโน้มจะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีข้างหน้า แต่ระดับและห้วงเวลาที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคยังคงไม่แน่นอน

ด้าน เดวิด เคลลี หัวหน้านักยุทธศาสตร์ระดับโลกของเจพีมอร์แกน บอกว่า รู้สึกกังวลที่เฟดดูเหมือนจะพลาดในการมองเห็นอันตรายใหญ่ในขณะนี้ เนื่องจากเฟดมุ่งเน้นจับตาเงินเฟ้อมาประกอบการตัดสินใจ ทั้งที่เงินเฟ้อไม่ใช่ศัตรู และเราก็ไม่ได้มีปัญหาเงินเฟ้อมา 25 ปีแล้ว

“มาตรวัดที่เราต้องจับตามองในตอนนี้ คือ ราคาสินทรัพย์ ไม่ใช่เงินเฟ้อ เราไม่ได้มีปัญหาเงินเฟ้อ แต่เรามีปัญหาฟองสบู่เทคโนโลยี ฟองสบู่สินค้าโภคภัณฑ์ และบ้าน ซึ่งได้รับการกระตุ้นให้โป่งพองจากเงินที่กู้ยืมได้ง่ายเพราะต้นทุนถูก ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ตลาดจะเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ หรือไม่ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งบางทีอาจเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ที่สุด นับจากเดอะ เกรท ดีเปรสชั่น”