Inverted Yield Curve “สัญญาณ” เศรษฐกิจถดถอย ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ?

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างมาก ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อสูงของสหรัฐให้สาหัสเข้าไปอีก ทำให้นักลงทุนเกรงว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปมากกว่าที่คาด

โดยอาจขึ้นถึง 0.5% แทนที่จะเป็น 0.25% ส่งผลให้ล่าสุดนี้ความสนใจของนักลงทุนเพ่งไปที่อัตราผลตอบแทน (yield) ของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นเทียบกับระยะยาว

โดยปกติแล้วผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้นเนื่องจากการถือครองระยะยาวมีความเสี่ยงมากกว่า ทั้งนี้ผลตอบแทนพันธบัตร ที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือพันธบัตรอายุ 10 ปี เทียบกับ 2 ปี

ซึ่งล่าสุดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าว ค่อนข้างสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เนื่องจากส่วนต่าง (spread) ผลตอบแทนแคบลง โดย วันที่ 28 มีนาคม ส่วนต่างเหลือเพียง 0.13%

โดยที่ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี ขยับขึ้น 0.04 จุด ไปอยู่ที่ 2.34% และพันธบัตร 10 ปี ปรับลง 0.02 จุด ไปอยู่ที่ 2.473% ทั้งที่ช่วงต้นปีนี้ส่วนต่างอยู่ที่ 0.8% และเฉลี่ยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ห่างกันถึง 1.5%

ส่วนต่างที่แคบลงดังกล่าวทำให้ตลาดวิตกว่าใกล้จะเกิดปรากฏการณ์ inverted yield curve นั่นคือ ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาวซึ่งเป็นสภาพไม่ปกติ “เป็นลางไม่ดี” เพราะหมายถึงสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าในอนาคตเศรษฐกิจอาจจะถดถอย มันสะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจในอนาคต

แม้พันธบัตรอายุ 10 ปีกับ 2 ปีจะยังไม่เกิด inverted yield curve เพราะผลตอบแทนระยะยาวยังสูงกว่าระยะสั้น แต่ที่เกิดไปแล้วเรียบร้อยเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมาก็คือผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีกับ 5 ปี

ซึ่งปรากฏว่าพันธบัตร 5 ปี ผลตอบแทนขยับขึ้นเป็น 2.56% ขณะที่พันธบัตร 30 ปี ขยับลงสู่ 2.55% ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 ที่ผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปีสูงกว่า 30 ปี

อย่างไรก็ตามนักลงทุนไม่ได้ตื่นตกใจกับ inverted yield curve ของพันธบัตร5 ปีและ 30 ปี เนื่องจากไม่ใช่ตัวชี้วัดสำคัญที่ตลาดใช้อ้างอิง ดังนั้นในวันดังกล่าวตลาดหุ้นสหรัฐจึงยังขยับขึ้นได้

ปรากฏการณ์ inverted yield curve สามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวและเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งตามข้อมูลของเฟดสาขาซานฟรานซิสโกบอกว่า นับตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่เกิด inverted yield curve จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาเสมอ

โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจถดถอยจะตามมาภายใน 12 เดือนหลังเกิด inverted yield curve แต่บางทีก็ใช้เวลา 2-3 ปีเช่นปี 2005 เกิด inverted yield curve แต่กว่าเศรษฐกิจจะถดถอยก็ปี 2007

“มาร์ก แซนดิ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มูดีส์ อนาไลติกส์ ระบุว่า มีโอกาสอย่างน้อย 1 ใน 3 ที่เศรษฐกิจจะถดถอยใน 12 เดือนข้างหน้า ยิ่งหากเฟดเหยียบเบรกแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยมาก ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะถดถอย

เซ็ธ คาร์เพนเตอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มอร์แกน สแตนลีย์ เชื่อว่าในที่สุดพันธบัตร 2 ปีกับ 10 ปีจะเกิด inverted yield curve เพราะเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างเข้มงวด

แต่สิ่งที่ตลาดถกเถียงกันก็คือครั้งนี้จะตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ทว่ามุมมองของตนเชื่อว่าจะเกิด inverted yield curve โดยที่เศรษฐกิจไม่ถดถอย เงินเฟ้อสูงในขณะนี้ซึ่งถูกกระตุ้นโดยวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพียงแต่ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวเท่านั้น

สเตฟานี ร็อธ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เจ.พี.มอร์แกน ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องเกิดเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้ง บางที inverted yield curve ก็ส่งสัญญาณผิดพลาดเช่นกัน เช่นปี 1998 ก็ส่งสัญญาณผิดพลาด

หรือล่าสุดก่อนที่จะมีโควิด-19 ก็เกิด inverted yield curve และต่อมาเศรษฐกิจก็ถดถอยในปี 2020 แต่การถดถอยเกิดจากโรคระบาด ซึ่งไม่มีนักลงทุนพันธบัตรรายใดสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดโรคระบาด

ดังนั้น inverted yield curve ในช่วงดังกล่าวจึงไม่ใช่การส่งสัญญาณที่แม่นยำว่าเศรษฐกิจจะถดถอย