
แม้พระเอก วิล สมิธ ทั้งขอโทษ ทั้งลาออก จากสถาบันภาพยนตร์ของสหรัฐ เจ้าของรางวัลออสการ์ไปแล้ว แต่วาทะ “ความรักทำให้คุณทำเรื่องบ้าๆ” ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมอยู่
ซีเอ็นเอ็น รายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ กรณี วิล สมิธ ขึ้นไปตบหน้า คริส ร็อก พิธีกร บนเวทีแจกรางวัลออสการ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มี.ค. ก่อนกล่าวขอโทษบนเวทีว่า “ความรักทำให้คุณทำเรื่องบ้าๆ” เพื่ออธิบายว่าความรักทำให้เขากระทำลงไปเพื่อปกป้องครอบครัว
หลายคนเห็นใจ วิล สมิธ ที่ไม่พอใจ คริส ร็อก ล้อเลียนทรงผมของภรรยาที่ต้องโกนศีรษะ ทั้งที่ภรรยาป่วยเป็นผมร่วงเป็นหย่อม แต่การใช้ความรุนแรงเช่นนั้นถูกประณาม และถูกตั้งคำถามมากมาย

โจเอล หว่อง อาจารย์และประธานด้านจิตวิทยาการปรึกษาและการศึกษา มหาวิทยาลัยบลูมิงตัน รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา มองว่า ทัศนคตินี้เป็นเรื่องอันตราย
เมื่อผู้ชายแสดงพฤติกรรมไม่ดี เช่น ใช้ความรุนแรงเพราะเห็นสมาชิกครอบครัวถูกทำร้าย ก็มักจะอ้างว่าเป็นการหมิ่นเกียรติของตน โดยเฉพาะ คู่สมรสซึ่งเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของตัวเอง ดังนั้น เมื่อมีใครสักคนดูหมิ่นภรรยาหรือลูกๆ ก็เหมือนดูหมิ่นตัวเอง
สำหรับบางคนที่คิดแบบนี้ มีวิธีเดียวที่รักษาเกียรติได้ คือ การแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ให้สาธารณชนหรือสังคมเห็นว่าได้รับการเกียรติคืน

กรณีของสมิธบนเวทีประกาศเวทีออสการ์ มีคนดูถึง 15.3 ล้านคนทั่วโลก รวมทั้ง มีอีกหลายล้านคนที่ดูผ่านทางอินเทอร์เน็ตเห็นการกระทำของนักแสดงยอดเยี่ยม
วิซดอม พาวเวลล์ อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ ศูนย์การแพทย์ยูคอน เฮลธ์ ในเมืองฟาร์มิงตัน รัฐคอนเนคทิคัต สหรัฐ กล่าวว่า สมิธอาจจะรู้สึกละอายเพราะหัวเราะมุกตลกของร็อก แต่เมื่อเห็นสีหน้าภรรยาไม่พอใจ หรือเขาอาจจะรู้สึกอับอายแทนภรรยา ผู้ชายที่อ่อนแอต่อสังคมมักจะยอมรับได้น้อยกว่า จึงพยายามและทวงคืนการควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้ความรุนแรง

ความรักเป็นแพะรับบาป
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขระบุว่าผู้ที่ก่อความรุนแรงในมักจะอ้างว่าทำในนามของรักแท้
หว่องกล่าวว่าคนที่ทำพฤติกรรมไม่ดีมักจะอ้างว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ใช่ตัวตนของเขาเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นการตัดสินใจที่ดูเหมือนเป็นธรรม แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ก็ไม่ควรปล่อยให้วิล สมิธ ลอยนวลอ้างว่าทำเพราะความรักล้วนๆ
ด้านพาวเวลล์กล่าวว่าเราสอนเด็กๆ ว่าความรักไม่ควรทำให้ใครเจ็บ เมื่อเปรียบความรักเท่ากับความรุนแรงทางร่างกายหรือความก้าวร้าวก็จะมีเส้นแบ่งไม่ชัดเจนและเป็นอันตราย

ส่วนผู้ที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวจะหาหน่วยงานที่สนับสนุนได้ เช่น สายด่วนความรุนแรงในครอบครัว
ชารอน แม็คไบรด์ ผู้แทนสายด่วน กล่าวว่าหากได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวที่มีเหตุจากเหตุการณ์มอบรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 เมื่อคืนวันอาทิตย์ ให้โทร.หาได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด หรือเข้าขอความช่วยเหลือได้ที่ www.thehotline.org
ยุติวงจรอุบาทว์
ความคิดฝังหัวแบบลูกผู้ชายหยั่งรากลึกในสังคม จึงต้องใช้เวลากว่าจะทำให้เลิกคิดแบบนี้
หว่องกล่าวว่าเมื่อผู้ชายใช้ความรุนแรง มักจะคิดว่าผู้ชายด้วยกันเห็นด้วยกับพฤติกรรมของเขามากกว่าความเป็นจริง แต่การศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าผู้ชายควรใช้ความรุนแรง
ขั้นตอนสำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คือ การที่ผู้ดูเหตุการณ์ประณามการกระทำรุนแรงและไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำ รวมทั้ง แบ่งแยกให้ชัดเจนระหว่างผู้ชายทั่วไปกับผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงเพราะไม่ได้โจมตีผู้ชายทั้งหมด

เมื่อทำความดีก็ควรแสดงความยินดีและแสดงความกังวลเมื่อผู้ชายแสดงพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของผู้ชายที่ดี
โรนัลด์ เลแวนต์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอครอน รัฐโอไฮโอ สหรัฐ กล่าวว่าวัฒนธรรมการให้เกียรติผู้ชายและบรรทัดฐานความเป็นชายมักจะสอนในช่วงวัยเด็ก
เด็กผู้ชายมักจะได้รับการสั่งสอนว่า ต้องไม่ร้องไห้หรือไม่แสดงอารมณ์ ครู ผู้ฝึกและพ่อแม่ รวมทั้ง ผู้ดูแลเด็กจะต้องถ่ายทอดให้เด็กเรียนรู้ความเป็นผู้ชาย แต่ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดที่ต้องทำตาม
ทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงมีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกัน แต่เด็กผู้ชายถูกสอนว่า ให้ “แมนๆ หน่อย” ทำให้ไม่กล้าแสดงความรู้สึก
ผู้ใหญ่จำเป็นต้องสอนเด็กผู้ชายให้รู้จักวิธีแสดงอารมณ์และใช้คำพูดในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งมากกว่าการใช้กำลัง
ส่วนพาวเวลล์กล่าวว่าการสนทนาแบบนี้จะทำให้ผู้หญิงและผู้ชายเปิดเผยความรู้สึกได้อย่างเป็นอิสระและไม่ต้องชดเชยความรู้สึกด้วยความรุนแรง