‘เมียนมา’ ลดพึ่ง ‘ดอลลาร์’ บีบประชาชนใช้ ‘เงินจ๊าต’

ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ออกแถลงการณ์เมื่อ 3 เมษายน 2565 ประกาศข้อบังคับให้ประชาชน ทุกคน แลกเปลี่ยนรายได้ที่ได้เป็น “เงินต่างประเทศ” เปลี่ยนเป็น “เงินจ๊าต” ทั้งหมดภายในหนึ่งวันหลังจากได้รับเงินต่างประเทศ โดยต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเท่านั้น

รวมถึงการส่งเงินตราต่างประเทศออกนอกเมียนมา ต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นเช่นกัน

ประกาศของแบงก์ชาติยังมีผลบังคับใช้ย้อนหลัง เงินทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีสกุลเงินต่างประเทศก่อนวันออกประกาศข้างต้นจะต้องถูกขายหรือเปลี่ยนเป็น “เงินจ๊าต” หากพบการกระทำฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

ท่าทีล่าสุดของ CBM สะท้อนว่า รัฐบาลทหารพยายามควบคุมการไหลเข้า-ออกของกระแสเงินต่างประเทศมากขึ้น จากที่เศรษฐกิจของเมียนมาตกต่ำลง นับตั้งแต่รัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 อันเป็นผลจากถูกคว่ำบาตร ทำให้ค่าเงินจ๊าตตกลงอย่างหนัก

ประกอบกับธุรกิจส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่แห่ถอนตัวบดบังเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่เมียนมาโดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการเมืองในประเทศที่ไม่แน่นอน ประชาชนแห่นำเงินไปแลกหรือฝากไว้ในสกุลปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเงินจ๊าตอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 7 เม.ย. 2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตอยู่ที่ 1,778 จ๊าต/ดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่เงินจ๊าตจะต่ำกว่านี้ในอนาคต ยังไม่นับรวมในตลาดมืดที่ต่ำกว่าการแลกเปลี่ยนทางการอย่างมาก

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ CBM จะออกประกาศดังกล่าว รัฐบาลเนปิดอว์เปิดแผนขยายการใช้สกุลเงินเพื่อนบ้าน กระทั่งเมื่อ 6 เมษายน ไทย-เมียนมา เปิดใช้เงิน “บาท-จ๊าต” ในการค้าชายแดนเป็นครั้งแรก จากเดิมต้องแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน

ทั้งเล็งขยายไปยังสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันอย่าง เงินรูปี และเงินหยวน เพื่อความสะดวกในการค้าชายแดน สะท้อนว่ารัฐบาลทหารต้องการควบเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงหวังผลจากการนำเข้า เพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในภาพรวม

นโยบายดังกล่าวทำให้แนวโน้มราคาสินค้านำเข้าในเมียนมาถูกลง ผู้จัดการ Oppo Myanmar เผยว่า “ราคาสมาร์ทโฟนที่เตรียมนำเข้ารุ่นถัดไปมีแนวโน้มถูกลงจากข้อบังคับดังกล่าว”

ดร.โซ ตุน นายกสมาคมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ระบุว่า ราคาสินค้านำเข้าซึ่งรวมถึงราคาน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มถูกลงประมาณ 10% ในอนาคตอันใกล้ หากรายได้จากการส่งออกที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีมากพอ


ขณะที่ญี่ปุ่น นักลงทุนรายใหญ่ของเมียนมา มองว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือน ที่อาจต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ในการถอนธุรกิจ เพราะในการทำธุรกรรมในประเทศใช้เงินจ๊าต แต่การนำเข้า-ส่งออกยังจำเป็นต้องใช้ดอลลาร์ ขณะที่ไม่มีใครส่งเงินตราต่างประเทศไปยังเมียนมาอีกต่อไป ดังนั้นการขาดแคลนดอลลาร์ของเมียนมาจะยิ่งแย่ลง