สตรีตฟู้ดสิงคโปร์แห่ขึ้นราคา เตือนโลกรับมือเศรษฐกิจถดถอย

สตรีท ฟู้ด

ควันหลงวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาวะค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย 1 พ.ค. ยังเป็นวันดีเดย์สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน รวมถึงพลังงาน-ก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา ขณะที่ภาคแรงงานในไทยต่างเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อสอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง “สิงคโปร์” นายกรัฐมนตรี “ลี เซียนลุง” กล่าวในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์เนื่องในวันแรงงานสากลอย่างน่าสนใจว่า ทั่วโลกอาจเผชิญสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า จากปัจจัยอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ต้นทุนราคาสินค้าและพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ยิ่งทำให้ความคาดหวังที่เศรษฐกิจจะกลับมาสดใสหลังโควิดยังยากจะประเมิน

“ลี เซียนลุง” ยังเตือนว่า สิงคโปร์ต้องเตรียมพร้อมรับความท้าทายทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลกำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาภาระค่าครองชีพในหลายมาตรการ ผ่านแพ็กเกจสนับสนุนครัวเรือน รวมมูลค่า 560 ล้านดอลลาร์ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

“ชาวสิงคโปร์เริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากสงครามยูเครนที่มีต่อค่าครองชีพแล้ว…เราต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เพราะสิงคโปร์ผนวกรวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ด้วยขนาดประเทศที่เล็กของเรา เราจำต้องพึ่งกับตลาดโลกเสมอ เรามีอำนาจต่อรองน้อย ถ้าสินค้าราคาขึ้น ราคาเราก็ขึ้น ถ้าเสบียงมีน้อย เราจะถูกบีบ ไม่อาจเลี่ยงกระแสลมความผันผวนเหล่านี้ได้”

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ไม่ได้เกินความเป็นจริงแต่อย่างใด โดยเมื่อ 29 เม.ย. 2565 แชนเนลนิวส์เอเชีย ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าสตรีตฟู้ดหรือ Hawker ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาหารชื่อดังของสิงคโปร์ โดยพบว่า บรรดาร้านอาหารชื่อดังทั้งหลายของสิงคโปร์ ต่างปรับขึ้นราคาอย่างถ้วนหน้า ทั้งอาหารและเครื่องดื่มหลายรายการต่างปรับราคาขึ้นอย่างน้อย 10-20%

หนึ่งในผู้ขายอาหารในแหล่งสตรีตฟู้ด ย่านเบนเดเมียร์ ยอมรับว่า น้ำมันปรุงอาหาร น้ำตาล กระเทียม และหัวหอม ซึ่งล้วนเป็นส่วนประกอบหลักของร้านต่างขึ้นราคาทั้งสิ้น นั่นทำให้ทางร้านจำต้องขึ้นราคาขนมจุ๊ยก๊วย จากที่เคยขาย 4 ชิ้น 1.20 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 
1.60 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่ 8 ชิ้นมีราคา 3.20 ดอลลาร์สิงคโปร์ จากเดิม 2.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ และยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ต้องปรับขึ้นราคา

เช่นเดียวกับร้านข้าวมันไก่ในย่าน Owen Road ที่ปรับขึ้นราคาข้าวมันไก่จากจานละ 3 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 3.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมติดป้ายระบุว่า “เนื่องจากวัตถุดิบอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ขึ้นราคาตลอดช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ทางร้านจึงต้องตัดสินใจปรับขึ้นราคาอาหาร”

Foo Tak Lim ผู้ดูแลสตรีตฟู้ดย่าน Owen Road กล่าวว่า ต้นทุนของส่วนผสม เช่น น้ำมัน บะหมี่ ไก่ และไข่ เพิ่มขึ้น 10-20% การปรับราคาข้าวมันไก่รอบนี้ ถือเป็นการขึ้นราคาครั้งที่สองในรอบ 10 ปี

“เคนเนท ลี” รองประธานสมาคมเครือข่ายร้านกาแฟและบาร์ที่มีสมาชิกกว่า 200 แห่งในสิงคโปร์ ยอมรับว่า ขณะนี้สมาชิกในเครือข่ายกว่า 40-50% มีการปรับขึ้นราคาอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีการปรับขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 10-20 เซนต์ต่อเครื่องดื่ม 1 แก้ว ไปจนถึง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับการขึ้นราคาอาหาร โดยอาหารทะเลปรับขึ้นราคามากสุด

ลีระบุว่า ร้านค้าหลายแห่งใช้น้ำมันสำหรับประกอบอาหารที่วัตถุดิบพื้นฐาน มีแหล่งผลิตอยู่ในยูเครน โดยปัจจุบันราคาน้ำมันประกอบอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของราคาเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว จึงทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับขึ้นราคา ซึ่งการขึ้นราคาของร้านสตรีตฟู้ดบางร้านยังไม่นับรวมค่าโสหุ้ยด้วยซ้ำ

การปรับขึ้นราคาอาหารในสิงคโปร์ เป็นไปในทิศทางเดียวกับสตรีตฟู้ดไทย ที่แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว ดาหน้าขอปรับขึ้นราคากันเป็นแถว ช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจโลกในปี 2022 จาก 5.4% เหลือโตไม่เกิน 3.9% จากอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับที่เร็วที่สุดในรอบ 14 ปี

ในรายงานเศรษฐกิจมหภาคที่เผยแพร่โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์เดือนมีนาคม 2022 เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 2.9% ส่วนต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุงสุกเพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ท่ามกลางราคาที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอาหารจำพวกปลา อาหารทะเล และเนื้อสัตว์

“อินโดนีเซียที่ระงับส่งออกน้ำมันปาล์มชั่วคราว สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงน้ำท่วมรุนแรงในมาเลเซียช่วงปลายปีที่แล้ว ก็ส่งผลกระทบต่ออุปทานปลาเช่นกัน นอกเหนือจากเงินเฟ้อและผลกระทบสงครามยูเครน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศแหล่งนำเข้าเนื้อสัตว์ที่สำคัญของสิงคโปร์ อย่างบราซิลและมาเลเซีย รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ทำให้ราคาเนื้อสูงขึ้น” MAS ระบุ

“เส่ง วุน ซ่ง” นักเศรษฐศาสตร์จาก CIMB Private Bank เผยกับสื่อสิงคโปร์ว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าเมื่อใดราคาต้นทุนวัตถุดิบเหล่านี้จะชะลอหรือทรงตัว เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างไม่แน่นอน ดังนั้นการขึ้นราคาสตรีตฟู้ดนั้นสมเหตุสมผลแล้ว

ขณะที่นโยบายของสิงคโปร์ชัดเจนว่าจะไม่หันหลังกลับไปล็อกเศรษฐกิจเพื่อคุมโควิดอีกครั้ง ขณะที่ช่วงท้ายของสุนทรพจน์วันแรงงานของนายกฯ “ลี เซียนลุง” ย้ำชัดว่า กลยุทธ์ของสิงคโปร์จะต้อง “เปิดกว้างและทำให้เศรษฐกิจของเราแข็งแกร่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การส่งออกของสิงคโปร์ยังคงมีโอกาสกับตลาดประเทศใหม่ ๆ และเรายังสามารถหาเลี้ยงชีพได้ในโลกนี้ ทว่าอย่างไรความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ”

“สิงคโปร์ควรมองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวัง สำหรับการเริ่มต้นในปีนี้” คำเตือนของนายกฯลี เซียนลุง คงไม่เกินความจริงที่ว่า แม้สิงคโปร์จะผ่อนปรนการข้ามแดนเปิดประเทศ หวังฟื้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวหลังโควิด แต่เมื่อเจอกับภาวะเงินเฟ้อ และผลจากสงครามยูเครน เศรษฐกิจสิงคโปร์อาจไม่สดใสเหมือนอย่างที่หลายคนวาดฝัน