สหรัฐลั่นไม่เชื่อ รัสเซียอ้างใช้ อาวุธเลเซอร์ ยิงทิ้งโดรนยูเครน ภายใน 5 วินาที

Service members of pro-Russian troops at the besieged Azovstal steel mill, in Mariupol, Ukraine May 19, 2022. REUTERS/Alexander Ermochenko

เจ้าแห่งอาวุธ สหรัฐอเมริกา เย้ยรัสเซีย คู่แข่งในวงการค้าอาวุธ ว่ารัสเซียไม่มีทางใช้ อาวุธเลเซอร์ ตามที่กล่าวอ้างได้

20 พฤษภาคม 2565 จากกรณีที่สื่อรัสเซียรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ นายยูริ บอริซอฟ รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลงานพัฒนากองทัพรัสเซีย ว่า รัสเซียส่ง อาวุธเลเซอร์ ต้นแบบ “ซาดิรา” (Zadira) เข้าไปประจำการในสมรภูมิยูเครน เพื่อใช้ยิงเผาโดรนของกองกำลังยูเครนได้ภายใน 5 วินาที แม้โดรนจะอยู่ห่างออกไปถึง 5 กิโลเมตร

บีบีซีไทย เผยแพร่รายงานของ ทอม สเปนเดอร์ ผู้สื่อข่าว บีบีซี นิวส์ว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา แถลงตอบโต้ ว่าไม่เคยพบหลักฐานยืนยันการใช้งานอาวุธดังกล่าวเลยสักครั้ง หลังขากนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวดิสเครดิตแล้วว่า อาวุธวิเศษล้ำยุคที่รัสเซียอวดอ้างเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีอยู่จริงแต่อย่างใด

อาวุธเลเซอร์
Defence Ministry of Russia

“ยิ่งรัสเซียรู้ชัดว่าตนเองไม่มีทางชนะสงครามมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งปรากฏโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับอาวุธวิเศษทรงพลัง ซึ่งจะมาช่วยพลิกสถานการณ์บ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น” นายเซเลนสกีกล่าวและว่า

“เมื่อล่วงเข้าสู่เดือนที่สามของการสู้รบ เราจึงได้เห็นรัสเซียพยายามค้นหาและอวดอ้างถึงอาวุธวิเศษดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภารกิจที่ผ่านมาของพวกเขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”

“ซาดิรา” ถือเป็นอาวุธเลเซอร์รุ่นล่าสุดของรัสเซีย หลังจากเพิ่งเปิดตัว “เปเรซเว็ต” (Peresvet) เลเซอร์รบกวนการทำงานของดาวเทียมสอดแนมมาแล้ว ซึ่งอาวุธเลเซอร์ชนิดหลังนี้ตั้งชื่อตามนักบวชนิกายออร์โธด็อกซ์ที่เป็นนักรบในยุคกลาง

นายยูริ บอริซอฟ รองนายกฯ เข้าพบ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน

อาวุธเลเซอร์ทำอะไรได้บ้าง

สำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานไว้เมื่อปี 2017 ว่ารัฐวิสาหกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์ Rosatom ของรัสเซีย ได้ช่วยพัฒนาอาวุธชนิดนี้โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลิตอาวุธจากหลักการทางฟิสิกส์ใหม่ ๆ

ปัจจุบันมีอิสราเอลเพียงประเทศเดียวที่พัฒนาอาวุธเลเซอร์ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยนายนาฟทาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเคยแถลงไว้ว่า “ลำแสงเหล็ก” (Iron Beam) เป็นอาวุธที่ใช้พลังงานโจมตีโดยตรงชิ้นแรกของโลก สามารถจะยิงสกัดโดรน จรวด หรือกระสุนปืนครกได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาประหยัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 120 บาท ต่อการยิงลำแสงแต่ละครั้ง

แม้ลำแสงเหล็กจะฟังดูเหมือนอาวุธเลเซอร์ที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซ-ไฟ แต่มันก็ยังไม่ใช่อาวุธวิเศษที่จะใช้จัดการเป้าหมายได้ทุกชนิดในทุกที่ทุกเวลา

อาวุธเลเซอร์

ในทางตรงกันข้าม ลำแสงเหล็กของอิสราเอลกลับถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศมากกว่า อย่างเช่นในกรณีติดตั้งระบบความปลอดภัยให้เมืองขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการโจมตีเป็นครั้งคราวด้วยปืนครกหรือโดรน ซึ่งจะคุ้มค่ากว่าการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ Iron Dome อย่างเต็มรูปแบบ

ไม่เหมือนในหนังสตาร์ วอร์

ดร. อูซี รูบิน จากสถาบันแห่งนครเยรูซาเลมเพื่อความมั่นคงและยุทธศาสตร์ (JISS) บอกว่าเทคโนโลยีเลเซอร์จะไม่ช่วยพลิกสถานการณ์การสู้รบในสมรภูมิยูเครนได้ดังใจอย่างที่รัสเซียอวดอ้างไว้

“เซเลนสกีพูดถูกแล้ว เลเซอร์ไม่ใช่อาวุธวิเศษ แต่ต้องใช้เวลานานหลายวินาทีกว่าจะยิงโดรนให้ตกได้ ปัจจุบันเรามีวิธีจัดการกับโดรนที่ดีกว่านั้นอยู่แล้ว เช่นการใช้ขีปนาวุธสติงเกอร์ (Stinger) หรือขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานชนิดอื่น ๆ ซึ่งทำลายเป้าหมายได้รวดเร็วกว่า ในระยะที่ไกลกว่าด้วย”

ฉากยิงปืนเลเซอร์ในภาพยนตร์ Star Wars

อาวุธเลเซอร์ทำงานโดยยิงลำแสงอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนเข้าใส่เป้าหมาย ทำให้มันร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและลุกไหม้อย่างรุนแรงในที่สุด แต่ดร. รูบินบอกว่า เลเซอร์มีอัตราความสำเร็จในการทำลายเป้าหมายในสงครามต่ำมาก และแม้แต่เทคโนโลยีเลเซอร์ชนิดที่ก้าวหน้าที่สุด ก็ยังอ่อนพลังเกินกว่าจะช่วยอะไรได้อย่างจริงจัง

“มันไม่เหมือนในหนังสตาร์ วอร์ ที่แค่ยิงปืนเลเซอร์ออกไปตัวร้ายก็จะแตกระเบิดทันที ในความเป็นจริงแล้วมันเหมือนกับเตาไมโครเวฟ ซึ่งกว่าจะทำให้น้ำถ้วยหนึ่งร้อนขึ้นได้นั้นก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เราต้องเล็งลำแสงเลเซอร์ไปที่เป้าหมายและแช่ค้างไว้เป็นเวลานาน กว่ามันจะร้อนขึ้นและถูกเผาไหม้” ดร.รูบินกล่าว