“เศรษฐกิจใหม่” ความหวังใหม่ของจีน

“เศรษฐกิจใหม่” ในที่นี้คือเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนพื้นฐานการบริโภคของประชากรภายในประเทศ ไม่เน้นไปที่การผลิตเพื่อส่งออก แต่เน้นไปที่การให้บริการ และการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศบรรลุสู่สภาวะ “เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน”

แตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลายทศวรรษก่อน ที่เป็นการผลิตของจำนวนมากออกขายในราคาถูก ๆ กระบวนการผลิตก่อให้เกิดมลภาวะอย่างหนัก และต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ

จีนพยายามเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบเดิมให้กลายเป็น “เศรษฐกิจแบบใหม่” มาหลายปี เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ หากไม่แน่วแน่มั่นคง มีโอกาสไม่น้อยที่การเปลี่ยนแปลงนี้จะ “ตกราง” กลายเป็นปัญหาใหญ่

แต่การนำของจีนยังคงเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นทางออกเพียงหนึ่งเดียว และเป็นทางเดียวที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวรุดหน้าไปอีกก้าว ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของผู้คนได้อีกระดับไม่ใช่ติดกับ “รายได้ปานกลาง” กันตลอดกาลทั้งประเทศ

“สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนออกมาย้ำเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่สุดของจีนเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาแรงงานซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ทำให้ตกอยู่ในสภาพ “ส่วนเกิน” ที่สามารถกลายเป็นปัญหาสังคมได้ไม่ยาก

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม ของจีน ประกาศจะโละคนงานทั่วประเทศ 1.8 ล้านคนในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและเหล็ก คิดเป็นมากถึง 15% ของแรงงานทั้งประเทศ เพื่อผลักดันให้เป็นพลังของเศรษฐกิจใหม่

มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ของ สถาบันประชากรและแรงงานเชิงเศรษฐกิจ ในสังกัดสำนักวิชาการสังคมศาสตร์แห่งจีน (ซีเอเอสเอส) ซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์กรทางวิชาการอิสระที่ได้รับการยอมรับนับถือกันในระดับสูงของจีน ที่แสดงให้เห็นว่า ความพยายามในระหว่างการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของจีน เริ่มผลิดอกออกผลบ้างแล้ว

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจวิจัยของซีเอเอสเอส ระบุว่า นับตั้งแต่ “นิว อีโคโนมี” หรือ เศรษฐกิจใหม่ ออกสตาร์ตเมื่อปี 2007 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจใหม่ของจีนขยายตัวเฉลี่ยปีละ 16.1% เทียบกับอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในช่วงเดียวกันแล้ว พบว่าเศรษฐกิจใหม่ของจีนขยายตัวสูงกว่าจีดีพีถึง 1.9 เท่า

ที่สำคัญยิ่งกว่าตัวเลขขยายตัวโดยรวมก็คือ อุตสาหกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีนั้นสามารถสร้างตำแหน่งงานในสัดส่วนที่สูงกว่าตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ผลวิจัยของซีเอเอสเอสระบุว่า เศรษฐกิจใหม่ เพิ่มจำนวนตำแหน่งงานในอัตราเฉลี่ย 7.2% ต่อปี มากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานในระบบเศรษฐกิจรวมถึง 22 เท่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีดังกล่าว หมายความว่า เศรษฐกิจใหม่ของจีนมีศักยภาพสูงมากที่จะชดเชยแรงกดดันจากการลอยแพคนงานของระบบเศรษฐกิจเดิม โดยการลดปริมาณการเกิด “ส่วนเกิน” ขึ้นในตลาดแรงงาน

ซีเอเอสเอส บอกว่า ในปี 2016 ภาคเศรษฐกิจใหม่คิดเป็น 14.6% ของเศรษฐกิจรวมในปีนี้ และก่อให้เกิดการจ้างงาน 10% ของการจ้างงานทั้งหมดของปี และคาดการณ์ว่าภาคเศรษฐกิจใหม่นี้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องต่อไป สร้างตำแหน่งงานขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ยราว 1 ล้านตำแหน่งต่อปี ในทุก ๆ ปีจนกระทั่งถึงปี 2020

“หยาง เว่ยกั๋ว” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย เหรินหมิน ในปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า เศรษฐกิจใหม่อยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรม ดำเนินงานอยู่ใน 3 รูปแบบ คือ “แชริ่ง อีโคโนมี”,”แพลตฟอร์ม อีโคโนมี” และ “ดิจิทัล อีโคโนมี” ที่สำคัญก็คือ บางส่วนของเศรษฐกิจใหม่ เปลี่ยนแปลงสังคมจีนไปสูงมากก็จริง แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่แม้แต่คนอายุ 80 ปี ยังคงใช้งานได้ เช่น

“วีแชท” หรือ “ตี้ตี้” (Didi) ที่แม้แต่ผู้สูงอายุในสังคมยังใช้งานสื่อสารซึ่งกันและกันได้ หรือใช้เรียกรถยนต์ไปไหนมาไหนได้ในกรณีของตี้ตี้ บริการแชร์ริ่งคาร์ ที่เบียดเอาอูเบอร์ไม่ได้ผุดไม่เกิดในจีนได้เลยทีเดียว

รายงานของซีเอเอสเอส ยกย่องกรณีของตี้ตี้เป็นพิเศษ เพราะสำรวจพบว่า ระหว่าง 30 มิถุนายน 2016 ถึง 30 มิถุนายน 2017 ได้สร้างงานมากกว่า 2.9 ล้านตำแหน่ง กลายเป็นกันชนป้องกันการว่างงานจากเศรษฐกิจเดิมได้เป็นอย่างดี


“เดวิด เลียว” ประธานและซีอีโอ ธนาคารเอชเอสบีซีในจีน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นิว อีโคโนมี หรือ ไฮ-เทค อีโคโนมี จะรอรัฐบาลผลักดันอย่างเดียวไม่ได้ผล ประชาชนต้องรู้และตระหนักในความสำคัญควบคู่กันไป การคิดค้นใหม่ ๆ และแนวทางใหม่นวัตกรรมถึงจะเกิด และเมื่อต้นเดือนธันวาคม เอชเอสบีซี เผยแพร่ผลสำรวจหลายประเทศทั่วโลก เรื่องทัศนคติของผู้บริโภคต่อเทคโนโลยี พบว่า ผู้บริโภคจีนครองอันดับหนึ่งในโลก ที่มีทัศนคติว่า เทคโนโลยี ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไป่ตู้, อาลีบาบา หรือ เท็นเซนต์ ที่เรียกรวม ๆกันว่า “BAT” ถึงกลายเป็น 3 บริษัทสุดยอดของจีนในเวลานี้