แสงสว่าง “ตลาดโลก 2018”

ผ่านไปแล้วสำหรับปี 2017 ซึ่งในความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเห็นว่า 2017 เป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนดีกว่าคาด แม้ว่าช่วงต้นปีตลาดจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งจากปัญหาในสหรัฐภายหลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ที่มีนโยบายปกป้องการค้า ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศแผนลดขนาดงบดุล

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าตลาดสามารถไต่กำแพงความกังวลเหล่านี้ไปได้ ส่งผลให้ ณ เดือนพฤศจิกายน ดัชนี MSCI ทั่วโลก ปรับขึ้น 18% และยังช่วยให้อัตราการเติบโตทั่วโลกแข็งแกร่งที่สุด ขณะที่กำไรของบริษัทต่าง ๆ สูงสุดนับจากปี 2010

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า แรงส่งจากปี 2017 จะยังดำรงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2018 แต่ทว่าก็มีโอกาสจะเผชิญอุปสรรค โดยปัญหาสำคัญคือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งหากถดถอยก็จะทำให้ตลาดหุ้นเป็นตลาดหมี เพราะในเดือนเมษายนปี 2018 เศรษฐกิจสหรัฐจะทำสถิติขยายตัวยาวนานที่สุดเป็นครั้งที่สอง เท่าที่เคยมีมา อันหมายความว่า วัฏจักรการขยายตัวของเศรษฐกิจเข้าสู่ขั้นปลายแล้ว และมีโอกาสจะเข้าสู่ช่วงถดถอย

การขยายตัวของเศรษฐกิจที่เข้าสู่ขั้นปลาย ประกอบกับเฟดเตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญจึงวาดภาพความเป็นไปได้ของตลาดปี 2018 โดยแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ซึ่งครึ่งปีแรก ตลาดหุ้นจะยังปรับตัวขึ้นต่อไปอีก ก่อนจะพบกับแรงต้านในปลายปี 2018 และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะถดถอยในปี 2019

นักวิเคราะห์ฉายภาพหลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 ประกอบด้วย 1.เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง 2.เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวราว 2.25% 3.ผลตอบแทนในตลาดยุโรป และญี่ปุ่น จะดีกว่าสหรัฐ 4.ค่าเงินยูโร เยน และปอนด์ มีแนวโน้มแข็งค่า ส่วนดอลลาร์สหรัฐจะยังอ่อน

การทำนายดังกล่าวแน่นอนว่าใช้สหรัฐเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากต้องยอมรับว่า ตลาดสหรัฐมีอิทธิพลสูงต่อตลาดโลก อีกทั้งวัฏจักรเศรษฐกิจมีความก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น ดังนั้นภาพรวมของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจจึงถูกขับเคลื่อนโดยสหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่ามีปัจจัยระดับโลกอื่น ๆ อีกหรือไม่ที่จะทำให้ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะซึมเซา หรือตลาดหมี คำตอบก็คือ “จีน” แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่าจีนจะเป็นผู้จุดประกายวิกฤต เพราะถึงแม้จะมีปัญหาหนี้ในระดับสูง แต่เชื่อว่าจีนจะสามารถจัดการได้ เพราะนโยบายสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลในขณะนี้คือลดระดับหนี้ลง

ในส่วนของยูโรโซน อยู่ในช่วงกลางของการฟื้นฟูใหม่ทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ พื้นฐานที่ดีในปี 2017 จากนโยบายผ่อนคลายการเงินจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างยั่งยืนในหลายปีข้างหน้า

โดยปี 2018 คาดว่าจีดีพียูโรโซนจะเติบโตระหว่าง 1.8-2.4% เพราะกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งอุตสาหกรรมและค้าปลีกขยายตัวคึกคัก ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่โตแข็งแกร่งจะช่วยเพิ่มการส่งออก

ฟากของเอเชีย-แปซิฟิกถูกคาดหมายว่า เศรษฐกิจจะยังคงเติบโตแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากเศรษฐกิจโลกและความต้องการซื้อจากจีน แนวโน้มของเศรษฐกิจจีนยังเป็นบวก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ที่ผลิตสินค้าบริโภค ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้รับอานิสงส์ เห็นได้จากการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจีนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

แนวโน้มการลงทุนในญี่ปุ่น ปี 2018 คาดว่าจะสดใส เห็นได้จากครึ่งหลังของปี 2017 ที่นักลงทุนขนเงินเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจนดัชนีนิกเคอิ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน ปรับขึ้น 11% ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น การเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก 2020 ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง ประกอบกับเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงนโยบายการเงินในแบบส่งเสริมการเติบโต แม้ว่าธนาคารกลางหลายประเทศจะเริ่มลดการผ่อนคลายทางการเงิน

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า 2018 นั้นควร stay invested เพราะยังเป็นปีที่น่าลงทุน และคาดว่าผลตอบแทนจะอยู่ในระดับ 2 หลัก แต่การลงทุนไม่ควรสูงกว่าน้ำหนักตลาด เพราะปลายปี 2018 หรือปี 2019 คาดว่าหมีจะมาเยือน