โรคระบาด 100 ปี – สงคราม 75 ปี “จุดเปลี่ยน” ตลาดโลก

ชีพจรเศรษฐกิจ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สถานการณ์ที่โลกเราเผชิญอยู่ เป็นอย่างที่ “คริสตาลิน่า จอร์จิเอวา” กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า โลกเรากำลังเผชิญ “เคราะห์ร้ายหลายอย่างพร้อมกัน” ทำให้เศรษฐกิจต้องพบกับบททดสอบใหญ่หลวงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะว่าเจอทั้งโรคระบาดโควิด-19 เงินเฟ้อสูง มาตรการด้านการเงินที่เข้มงวดขึ้น และตบท้ายด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ซ้ำเติมให้ราคาพลังงานพุ่งทะยาน ทำให้ข้าวของแพง สร้างความทุกข์ยากแก่คนทั้งโลก อีกทั้งบั่นทอนเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด

สัปดาห์ที่แล้ว บรรดาผู้บริหารระดับสูงของวอลล์สตรีต แสดงความเห็นในการประชุมด้านการเงินในนิวยอร์ก เกี่ยวกับผลกระทบจากเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ของโลกในขณะนี้ต่อตลาดและเศรษฐกิจ โดย “เท็ด พิก” ประธานร่วมของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า พื้นฐานของตลาดโลกเริ่มจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโลกเราอยู่ในช่วงที่ผิดธรรมดา

กล่าวคือมีโรคระบาดใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี มีการรุกรานในยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี เงินเฟ้อสูงมากเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่วนผสมเหล่านี้เมื่อรวมเข้าด้วยกัน มันส่งสัญญาณว่าจะเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) เป็นจุดสิ้นสุดของยุคการเงินแบบผ่อนคลายที่ดำเนินมา 15 ปี

พิกระบุว่า จากนี้ไปตลาดและนักลงทุนจะเจอกับช่วงเวลาแห่งความสับสนอลหม่าน เนื่องจากตลาดจะถูกครอบงำด้วยพลัง 2 อย่าง นั่นก็คือ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อสูง ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือน “ไฟ” และความกังวลว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ซึ่งเปรียบได้กับ “น้ำแข็ง” ซึ่งช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้ อย่างน้อยจะทำให้กิจกรรมการควบรวมกิจการลดลง เพราะว่าบริษัทต่าง ๆ กำลังเดินทางอยู่ในเส้นทางที่ไม่รู้จักมาก่อน จึงเกิดความไม่แน่ใจ

ในระยะกลาง หากเศรษฐกิจสามารถรักษาระดับการเติบโต และเงินเฟ้อผ่อนคลายลงในครึ่งหลังของปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ goldilocks (เศรษฐกิจไม่เติบโตมากเกินไปจนสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ และไม่เติบโตน้อยเกินไปจนเสี่ยงถดถอย) สร้างแรงสนับสนุนให้ตลาด

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้วยการยุติยุคการเงินแบบผ่อนคลายอาจไม่ราบรื่น เพราะครั้งสุดท้ายที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พยายามจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในปี 2018 ก็เกิดความผิดปกติกับตลาดหุ้น ตลาดน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ในเวลาไม่ถึงปี บรรดาธนาคารกลางในประเทศหลัก ๆ ต้องระงับการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพราะเศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง

ประธานมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านจากยุคการเงินผ่อนคลาย ดอกเบี้ยต่ำมาก อาจใช้เวลา 12-24 เดือน จึงจะเห็นผลชัดเจนว่าจะออกมาในลักษณะใด เมื่อเราออกจากกองเถ้าถ่านแห่งช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมาได้ วัฏจักรใหม่แห่งธุรกิจจะปรากฏโฉม เมื่อธุรกิจต้องกลับมาใช้ดอกเบี้ยแท้จริงและต้นทุนที่แท้จริง ถึงเวลานั้นก็จะเห็นชัดเจนว่า บริษัทไหน หุ้นตัวไหน จะอยู่รอดหรือล้มหายตายจาก

ทางด้าน มาร์โค โคลาโนวิก หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดและหัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของ เจ.พี.มอร์แกน ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปอีก แต่น่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น และท้ายที่สุดจะกลับสู่ระดับปกติ เราคิดว่าผู้บริโภคสามารถรับมือราคาน้ำมัน 130 และ 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ เพราะราคานี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2010 ถึง 2014 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือได้เช่นกัน แม้ราคาน้ำมันจะสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โคลาโนวิกเชื่อว่าทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะไม่ถดถอย ขณะเดียวกันในระยะ 12 เดือนข้างหน้า นักลงทุนจะไม่กอดเงินสดเพื่อรอดูว่าเศรษฐกิจจะถดถอยหรือไม่ คิดว่านักลงทุนจะค่อย ๆ กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากหากดูในซีกของผู้บริโภคจะเห็นว่าการใช้จ่ายภาคบริการยังรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา โคลาโนวิกได้รับการยกย่องอย่างสูงจากสถาบันนักลงทุน ในฐานะนักทำนายที่มีความแม่นยำหลายปีติดต่อกัน