
ลาวเคยประสบเหตุเขื่อนแตกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อปี 2561 มีผู้เสียชีวิตราว 71 ราย ล่าสุดรัฐมนตรี สปป.ลาวเรียกร้องว่าต้องมีกฎหมายควบคุมความปลอดภัยแล้ว
วันที่ 11 มิถุนายน 2565 สำนักข่าว ซินหัว รายงานว่า รัฐมนตรี สปป.ลาว ระบุถึงความจำที่ลาวต้องออกกฎหมายเฉพาะเพื่อรับรองความปลอดภัยของเขื่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรลุการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของรัฐบาลลาว
ก่อนหน้านี้ ลาวประสบเหตุเขื่อนพังถล่มที่โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน–เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 560 กิโลเมตร

เหตุครั้งนั้นส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและพัดพาหมู่บ้านท้ายน้ำ 5 แห่ง ทำให้ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 4,000 คน ขณะชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นอีกหลายแห่งต่างได้รับผลกระทบเช่นกัน
ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว กล่าวระหว่างการแถลงต่อสภาแห่งชาติลาวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิ.ย. ว่าลาวมีกฎระเบียบและแนวปฏิบัติในการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่ไม่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับมาตรการความปลอดภัยโดยเฉพาะ

“การพัฒนาทุกด้านซึ่งรวมถึงการสร้างเขื่อน จำเป็นต้องได้รับการกำกับดูแลที่ดีขึ้นผ่านการบังคับใช้กฎหมายอันเข้มงวด ขณะกำลังการผลิตที่มากขึ้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ควบคู่กับความปลอดภัยและการตรวจสอบเขื่อน” รมต.ดาววง กล่าวและว่า
กระทรวงพยายามส่งเสริมการจัดการความปลอดภัยเพื่อรับรองการพัฒนาพลังงานน้ำอย่างยั่งยืน หลังเกิดเหตุเขื่อนพังถล่มในแขวงอัตตะปือทางตอนใต้ประเทศเมื่อปี 2018
ด้านหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทมส์ อ้างอิงดาววงระบุว่าการขาดแคลนกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยของเขื่อน เป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบเขื่อนที่เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
พร้อมเสริมว่ากระบวนการตรวจสอบที่ไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพนั้นมีความเสี่ยงและปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไข
ริมแม่น้ำโขงระวัง สปป.ลาว เร่งระบายเขื่อนน้ำอู หลังฝนตกหนัก