สหรัฐตั้งโรงงาน “แรร์เอิร์ท” ปลดล็อกการพึ่งพา “จีน”

แรร์เอิร์ท

แร่หายาก หรือ “แรร์เอิร์ท” (rare earth) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามาตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นในปี 2019 เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกแรร์เอิร์ท รายใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้ทางการสหรัฐต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ทของตนเอง เพื่อรักษาความมั่นคงและป้องกันการใช้แรร์เอิร์ทเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจของจีน เพราะแรร์เอิร์ทถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ล่าสุดสหรัฐได้สร้างซัพพลายเชนแรร์เอิร์ทภายในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับ “ลีนาส แรร์ เอิร์ทส์” (Lynas Rare Earths) บริษัทผู้ผลิตแรร์เอิร์ทยักษ์ใหญ่จากออสเตรเลียในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปแรร์เอิร์ทแห่งแรกในสหรัฐ

โรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นในเขตอุตสาหกรรมบนชายฝั่งอ่าวเทกซัส คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2025 ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน ลีนาสฯจะเป็นผู้นำเข้าแรร์เอิร์ทชนิดหนัก (heavy rare earths) ที่ขุดและกลั่นได้จากเหมืองในออสเตรเลีย ก่อนที่จะนำมาแยกองค์ประกอบต่าง ๆ ที่โรงงานในสหรัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ข้อตกลงสร้างโรงงานแห่งใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่รัฐบาลสหรัฐเปิดตัวครั้งแรกในปี 2020 เพื่อสร้างซัพพลายเชนแรร์เอิร์ทของตนเอง เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า กังหันลม สายเคเบิลใยแก้วนำแสง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ทางการทหารที่จำเป็นต้องใช้แรร์เอิร์ทเป็นส่วนประกอบอย่างเลเซอร์และระบบนำทาง

นอกจากโรงงานแห่งนี้แล้ว สหรัฐยังมีแผนสนับสนุนลีนาสฯในการสร้างโรงงานแรร์เอิร์ทอีกแห่งบริเวณเหมืองในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยรอยเตอร์สรายงานว่า การลงทุนครั้งนี้อยู่ภายใต้กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกัน (Defense Production Act) ที่อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐสามารถลงทุนในการผลิตเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศได้

ข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ปัจจุบันเหมืองในประเทศจีนสามารถขุดแรร์เอิร์ทได้มากกว่า 50% ของปริมาณแรร์เอิร์ททั่วโลก และจีนยังเป็นผู้นำเข้าแร่หายากจากประเทศต่าง ๆ เพื่อแปรรูปและแยกส่วนถึง 90% เนื่องจากจีนเป็นประเทศเดียวที่มีโรงงานแปรรูปแรร์เอิร์ทชนิดหนักในขณะนี้

ส่งผลให้สหรัฐกังวลว่าหากความสัมพันธ์กับจีนย่ำแย่ลง จีนอาจระงับการส่งออกแรร์เอิร์ทซึ่งจะทำให้สหรัฐถูกตัดขาดจากแร่หายากที่มีความสำคัญต่อภาค อุตสาหกรรมนอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ทำให้การขนส่งทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้สหรัฐตระหนักถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาแร่หายากจากจีนเพียงแหล่งเดียว

เช่นเดียวกับ “ออสเตรเลีย” ที่มีปัญหากับรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง “สกอตต์ มอร์ริสัน” นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนก่อนหน้า ได้พยายามผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ทกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อลดบทบาทของจีนที่ครอบงำอุตสาหกรรมแร่หายากทั่วโลก

แม้ว่าลีนาสฯจะเป็นผู้ผลิตแรร์เอิร์ทรายใหญ่สุดนอกประเทศจีน โดยมีโรงงานแปรรูปแรร์เอิร์ทขนาดใหญ่ในเมืองกวนตันของมาเลเซีย และกำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย แต่โรงงานของลีนาสฯยังคงสามารถแปรรูปได้เฉพาะแรร์เอิร์ทชนิดเบา (light rare earths) ขณะที่แรร์เอิร์ทชนิดหนักยังต้องส่งไปแปรรูปในจีน

ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นความพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งขึ้นในอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ทระหว่างสหรัฐและออสเตรเลีย “อแมนดา ลาคาเซ” ซีอีโอของลีนาสฯระบุว่า “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จีน แต่อยู่ที่การมีซัพพลายเชนเพียงแห่งเดียว”