ตลาดคริปโตถล่ม ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ?

คริปโต
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ตลาดเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ผันผวนอย่างหนัก มูลค่าของเหรียญดิจิทัลต่าง ๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ร่วงลงมหาศาล บริษัทผู้ออกเหรียญหลายแห่งเริ่มโละพนักงาน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนคลอนแคลน ส่งผลให้มูลค่าโดยรวมหดหายไปมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

นักลงทุนในเหรียญคริปโตที่เดิมพันไว้สูงว่านี่คือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย สูญเงินที่ออมมาทั้งชีวิตไปชนิดฉับพลัน

ความมั่งคั่งที่หายไปทันทีทันใดมหาศาลเช่นนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่า ภาวะถล่มทลายของเงินดิจิทัลครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง จนอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดภาวะถดถอยขึ้นตามมา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญตลาดเงินดิจิทัลเชื่อว่า ผลกระทบจากภาวะล่มของคริปโตเคอร์เรนซีน่าจะอยู่ในแวดวงจำกัด และไม่น่าวิตกว่าจะส่งผลกระทบมากมายนักต่อภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง

“โจชัว แกนส์” นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ให้เหตุผลสำคัญไว้ว่า เป็นเพราะเงินคริปโตไม่ได้ผูกอยู่กับภาวะหนี้ในโลกแห่งความเป็นจริง การขาดทุนที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโต ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นเรื่องของการขาดทุนมูลค่าบนกระดาษ ไม่ได้เป็นการขาดทุนจริง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง

เขาชี้ให้เห็นว่า เพราะความผันผวนในมูลค่าของเงินคริปโต เราจึงไม่เคยเห็นกันว่าจะมีใครนำเงินเหรียญดิจิทัลเหล่านี้มาใช้ซื้อทรัพย์สินจริง ๆ หรือใช้ไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง หลายคนกู้เพื่อนำไปลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีก็จริง แต่มักเป็นการกู้เงินสกุลดิจิทัลหนึ่งไปใช้ในการลงทุนในอีกสกุลหนึ่ง ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วการกู้ยืมที่มีเงินคริปโตหนุนหลังมักวนเวียนอยู่ในตลาดคริปโตเท่านั้น

ผลวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ของ “มอร์แกน สแตนลีย์” ระบุเช่นเดียวกันว่า ผู้ปล่อยกู้เงินคริปโต ส่วนใหญ่แล้วมักปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนหรือบริษัทที่ต้องการลงทุนในตลาดคริปโต ดังนั้นต่อให้มูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีลดลงจนถึงระดับต่ำสุด ผลกระทบที่จะเกิดกับธนาคารทั้งหลายก็จะยังคงอยู่ในแวดวงจำกัดเท่านั้น

นอกจากนั้น “เควิน โอเลียรี” นักลงทุนชื่อดังยังชี้ไว้ด้วยว่า ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้อยู่ในรูปของสถาบันอย่างเช่นธนาคารต่าง ๆ

แม้ว่าจะมีหลายธนาคารแสดงความสนใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ แต่ที่ลงทุนจริง ๆ นั้นมีน้อยยิ่งกว่าน้อย เหตุผลหนึ่งก็คือ เป็นเพราะธนาคารมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์เป็นของตนเอง และมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าการลงทุนใด ๆ ของตนเป็นการลงทุนที่เหมาะสม

ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ โอเลียรี และแกนส์ เชื่อว่า ยากที่วิกฤตที่เกิดขึ้นกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในเวลานี้ จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นมา

แน่นอนว่ามีนักลงทุนอเมริกันเป็นจำนวนไม่น้อยประสบความสูญเสียอันเนื่องมาจากการถล่มทลายของค่าเงินดิจิทัลในครั้งนี้ แต่หลายฝ่ายก็ระบุว่า ภาวะขาดทุนในตลาดคริปโตนั้น เล็กมากหากเทียบกับมูลค่าสุทธิของครัวเรือนอเมริกันทั้งหมด ซึ่งสูงถึง 150 ล้านล้านดอลลาร์

รายงานของโกลด์แมน แซกส์ เมื่อเดือนพฤษภาคมระบุว่า การถือครองคริปโตเคอร์เรนซีในสหรัฐอเมริกานั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% ของมูลค่าครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่การถือครองหลักทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 33% ผลกระทบจึงน้อยลงมากตามไปด้วย

โอเลียรียังชี้ให้เห็นว่า ตลาดคริปโตที่รวมไปถึงเงินดิจิทัลสกุลที่โด่งดังอย่าง “บิตคอยน์” หรือ “อีเทอเรียม” เป็นตลาดที่กระจายออกไปทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะนักลงทุนอเมริกันเท่านั้น ดังนั้นต่อให้บิตคอยน์ร่วงต่อไปอีก 20% ก็ยังไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจอเมริกัน เพราะบิตคอยน์กระจายออกไปทั่วโลก

นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีตหลายคนเชื่อด้วยซ้ำไปว่า การล่มสลายของเงินคริปโตบางสกุล น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดคริปโตโดยรวมในระยะยาวด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการฉายให้เห็นข้อบกพร่อง หรือข้อด้อย ที่จะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงให้ดีขึ้นในระยะยาวนั่นเอง