ปัญหาที่ยังไร้ทางออกของอุตสาหกรรมรีไซเคิล “อังกฤษ” เมื่อ “จีน” ประกาศห้ามนำเข้า “ขยะพลาสติก”

กลายเป็นปัญหาใหญ่ของอังกฤษเลยก็ว่าได้ เมื่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลสหราชอาณาจักรออกมาระบุว่า “ยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับการที่จีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกได้อย่างไร”

ซึ่งโดยปกติแล้ว สหรัฐอาณาจักรจะส่งออกขยะพลาสติกไปรีไซเคิลที่จีนปีละกว่า 500,000 ตัน แต่ขณะนี้การค้าขยะพลาสติกดังกล่าวต้องยุติลง หลังจากจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติก

สมาคมรีไซเคิลสหราชอาณาจักรระบุว่า จากประกาศดังกล่าวของจีน ทำให้ขณะนี้สหราชอาณาจักรไม่สามารถจัดการกับของเสียจำนวนมากนี้ได้

ไซมอน เอลลิน นายกสมาคมฯ กล่าวกับบีบีซีว่า ตนยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าในระยะสั้นจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

“นี่เป็นระเบิดลูกใหญ่สำหรับเรา เกมนี้มันเปลี่ยนอุตสาหกรรมของเราไปเลย เพราะเราพึ่งพาประเทศจีนมาเป็นเวลานานในการรีไซเคิลของเสียของเราที่ราว 55% เป็นกระดาษ และอีกกว่า 25% เป็นพลาสติก” นายเอลลินกล่าว และว่า เราไม่เคยมีตลาดรองรับในสหราชอาณาจักรมาก่อน นี่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมเรา

ทั้งนี้ จีนได้ประกาศห้ามนำเข้า “ขยะจากต่างประเทศ” ในเดือนนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของตน ซึ่งประเทศเอเชียอื่นๆ จะรับพลาสติกบางส่วนจากอังกฤษ แต่ก็ยังคงเหลือเป็นจำนวนมากอยู่ดี

ไมเคิล โกฟ เลขาธิการด้านสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า เขาช้าเกินไปที่จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณที่องค์กร Recoup ในอังกฤษ ซึ่งรีไซเคิลพลาสติก กล่าวว่า การห้ามนำเข้าดังกล่าวของจีนจะนำไปสู่การสะสมของเศษขยะพลาสติกของอังกฤษ ทำให้อาจต้องเปลี่ยนไปสู่การเผาขยะและการฝังกลบแทนการรีไซเคิล

ปีเตอร์ เฟลมมิง จากสมาคมรัฐบาลท้องถิ่น ระบุว่า จากปัญหาดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าบางเมืองอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการนำขยะไปเผา แต่ไม่ใช่ว่าทุกส่วนของประเทศจะมีเตาเผาขยะ

“นี่ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ แต่ก็คงจะในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะเชื่อว่าเราจะสามารถรับมือได้ และในระยะยาว เราคงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการกำจัดของเสียที่ชาญฉลาดมากขึ้น” นายเฟลมมิงกล่าว

ฟังจากหลายเสียงอาจดูเหมือนว่าแนวทางแก้ปัญหาตอนนี้จะมุ่งไปสู่การเผาขยะ อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงต้านทานอย่างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การเผาเป็นคำตอบที่ผิด

หลุยส์ เอดจ์ จากกรีนพีซ กล่าวกับบีบีซีว่า การเผาเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เพราะทำให้เกิดคาร์บอนที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังสร้างสารเคมีที่เป็นพิษและโลหะหนักด้วย

“หากคุณสร้างเตาเผาขยะ ก็ถือเป็นการสร้างตลาดสำหรับพลาสติกใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) ไปอีก 20 ปีข้างหน้าเลย แต่พลาสติกดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องลดการใช้งานในขณะนี้” หลุยส์ เอดจ์ กล่าว

โดยรัฐบาลควรกำลังหารือกับภาคอุตสาหกรรมในการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียว รวมไปถึงโครงการเงินฝากขวดน้ำด้วย

ลดการใช้-ลดความซับซ้อน

ไมเคิล โกฟ กล่าวกับบีบีซีว่า เป้าหมายระยะยาวของเขาคือการลดปริมาณพลาสติกในระบบเศรษฐกิจโดยรวม, ลดจำนวนพลาสติกที่แตกต่างกัน, ลดความซับซ้อนของกฎหมายท้องถิ่น เพื่อให้ผู้คนสามารถตัดสินสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นี่คือสิ่งที่อังกฤษจะต้องทำ

คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า อังกฤษควรจะเริ่มขยายมาตรการภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ยากต่อการรีไซเคิลมากที่สุด ให้เสียภาษีแพงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อตกลงกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนถึงเป้าหมายในระยะยาว หรือแม้แต่ระยะสั้นที่จะแก้วิกฤตจีนนี้อย่างไร…