คนจนพุ่ง 71 ล้านคนทั่วโลก พิษวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามยูเครน

วิกฤตเศรษฐกิจ คนจนพุ่ง 71 ล้านคนทั่วโลก
(Photo by Matias Delacroix / AFP)

รายงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างหนัก

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เตือนในรายงานฉบับใหม่ว่า ผู้คนราว 71 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาความยากจน เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

“อาคิม สไตเนอร์” รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้บริหารสูงสุดของ UNDP กล่าวระหว่างการเผยรายงานฉบับนี้เมื่อวันพฤหัสบดีว่า จากการวิเคราะห์ประเทศกำลังพัฒนา 159 ประเทศ พบข้อมูลว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อบางพื้นที่ของแอฟริกา บอลข่าน เอเชีย และที่อื่น ๆ อย่างหนัก

รายงานที่มีความหนา 20 หน้า ที่มุ่งเน้นการแก้วิกฤตค่าครองชีพในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ คาดการณ์ว่า ผู้คน 51.6 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนในช่วง 3 เดือนแรกหลังสงคราม โดยมีรายได้ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ตัวเลขนี้ทำให้จำนวนคนจนทั่วโลกในเวลานี้เพิ่มเป็น 9% ของประชากรทั่วโลก

ขณะที่อีก 20 ล้านคน มีรายได้ 3.20 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งเป็นเส้นแบ่งสำหรับเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางตอนล่าง

รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า สิ่งนี้ส่งผลต่อสวัสดิการของครัวเรือน ผู้ที่อยู่ในภาวะยากจนและใกล้ถึงระดับความยากจน มีสาเหตุจากต้นทุนพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายด้านนโยบายสำหรับรัฐบาลต่าง ๆ

สงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารและพลังงานทั่วโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการส่งออก ก่อนที่สงครามจะเริ่มเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุด และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ตามลำดับ

การส่งออกข้าวสาลีของรัสเซียกับยูเครน เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของการส่งออกทั่วโลก นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังส่งออกข้าวโพดคิดเป็น 14% ของการส่งออกทั้งหมด ทั้งยังส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด

ท่าเรือที่ถูกปิดของยูเครน และการที่ยูเครนไม่สามารถส่งออกธัญพืชไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำ ทำให้ราคาธัญพืชพุ่งสูงขึ้น เป็นผลให้ผู้คนหลายสิบล้านคนเข้าสู่ความยากจนและวิกฤตเศรษฐกิจ

UNDP รายงานว่า ก๊าซธรรมชาติมากกว่า 2 ใน 3 มีราคาเพิ่มขึ้น 166.8% ตลอดระยะเวลา 12 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น

ในบรรดาประเทศที่มีแนวโน้มเผชิญปัญหาความยากจนในทุกเส้นความยากจน ได้แก่ อาร์เมเนีย อุซเบกิสถาน บูร์กินาฟาโซ กานา เคนยา รวันดา เฮติ ปากีสถาน และศรีลังกา

ปัญหาเศรษฐกิจกำลังทำให้เกิดการประท้วงในหลายประเทศ ระหว่างที่รัฐบาลกำลังดิ้นรนเพื่อชำระหนี้ สหประชาชาติระบุว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกกำลังประสบปัญหาหนี้สินหรือมีความเสี่ยงสูงด้านหนี้สิน