ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป มาถึงจุดต่ำสุดเกินหยั่งถึงได้อย่างไร

จีนกับสหภาพยุโรป

ภาพการพบปะของสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดจีน เยือนยุโรปเมื่อ 8 ปีก่อน สะท้อนความชื่นมื่นในความสัมพันธ์ระหว่าง จีนกับสหภาพยุโรป แต่ต่อมารักหวานผันเป็นขม มีปมขัดแย้งบานปลาย

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง จีนกับสหภาพยุโรป ที่เรียกได้ว่าถึงจุดต่ำจนลึกสุดจะหยั่งได้ ทั้งที่เมื่อ 8 ปีก่อนยังดูชื่นมื่น และมองได้ว่า จีนเคยวางยุโรปไว้เป็นแนวต้านทานสหรัฐอเมริกา

บทวิเคราะห์นี้เผยแพร่ช่วงเวลาเดียวกับที่นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงวันที่ 19 ก.ค. ปฏิเสธรายงานข่าวของเซาท์ ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์ สื่อชั้นนำของฮ่องกง ที่ว่านายสี จิ้นผิง ส่งเทียบเชิญบรรดาผู้นำชาติยุโรป มาเยือนกรุงปักกิ่งในปีนี้ แต่คำตอบยังคงเงียบงัน

“ผมไม่ทราบแหล่งข่าวของเขานะ แต่ผมบอกได้เลยว่านี่เป็นเฟกนิวส์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

จากชื่นมื่นผันขุ่นเคือง

ความสัมพันธ์จีน-สหภาพยุโรป พลิกผันจากชื่นมื่นมาเป็นขุ่นเคือง เมื่ออียูใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ หรือแซงก์ชั่นจีน จากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง

ต่อมาจีนตอบโต้ด้วยการแซงชั่นนักกฎหมาย นักวิชาการ และบุคคลอื่น ๆ ของอียู รวมถึงระงับสัญญาการลงทุนต่าง ๆ ไม่เท่านั้น จีนยังบล็อกการค้ากับลิทัวเนีย สมาชิกอียู หลังหมางใจกันเรื่องไต้หวัน และกรณีที่จีนปฏิเสธที่จะประณามรัสเซีย ในศึกบุกยูเครน

จากนั้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 และนาโต (NATO) กลับมีเนื้อหาต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างชัดเจน

การประชุมจี 7 เมื่อเดือนมิถุนายน 2565

ความสัมพันธ์ยามนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อครั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนยุโรปครั้งแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้น ประธานรัฐสภายุโรปส่งสัญญาณถึงความสำคัญที่ผู้นำจีนยึดมั่นในความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและจีนที่เข้มแข็ง

ยุโรปปัดข้อเรียกร้องสี จิ้นผิง

ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ดูเหมือนต้องการคลี่คลายปมฝังใจเรื่องการแบ่งฝ่ายกัน ว่า “จีนและสหภาพยุโรปควรทำหน้าที่เป็นสองกองกำลังหลักในการรักษาสันติภาพของโลก และชดเชยความไม่แน่นอนในภูมิทัศน์ระหว่างประเทศ”

แต่ข้อเรียกร้องนี้กลับถูกตอกกลับจากฝั่งยุโรปที่ต้องการให้จีนแสดงบทบาทเป็นนายหน้าระงับศึกยูเครน

ดูได้จากถ้อยคำของโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศของอียู ที่ว่า “การเจรจาเป็นได้ทุกสิ่ง ยกเว้นการเจรจาเอง หากว่ามาจากการเจรจาแบบหูหนวก (ไม่รับฟัง)”

สีจิ้นผิงชี้สงครามยูเครน สัญญาณเตือนภัยสำหรับมนุษยชาติ
Reuters
ท่าทีที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือต่อเนื่องเป็นระลอกนี้เป็นไปได้ว่าจีนประเมินขอบเขตสถานการณ์ต่ำเกินไปว่าอียูจะตีตัวออกห่าง จึงทำให้วิสัยทัศน์ในฝันที่จีนหวังให้ความสัมพันธ์กับยุโรป ช่วยต้านทานและรักษาสมดุลกับอำนาจและท่าทีของอเมริกัน ก็มลายไปทันที

ข้อกล่าวหาปมอุยกูร์ถึงฮ่องกง

จีนพยายามสร้างความสัมพันธ์กับยุโรปในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ โดยอุทิศการจัดประชุมกับชาติยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออก พร้อมแสวงหาเส้นทางการริเริ่มโครงการ Belt and Road หรือเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากอิตาลี ชาติสมาชิกหนึ่งในกลุ่ม G7 ที่ร่วมลงนามในปีนั้น

ด้านสหรัฐแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการร่วมมือต่าง ๆ ของจีนกับยุโรป และชาติต่าง ๆ ในยุโรปต่างเฝ้าดูผู้นำจีนเพิ่มมากขึ้นในนโยบายต่างประเทศของตน ตั้งแต่น้ำเสียงพร้อมบวกของนักการทูต “นักรบหมาป่า” ไปจนถึงการก่อตั้งฐานทัพเรือในแอฟริกา และการแสดงความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้และต่อไต้หวัน และ การกำหนดเป้าหมายของบริษัทหรือประเทศที่ทำผิดกฎเกี่ยวกับประเด็นร้อน

การปะทะระหว่างผู้ประท้วงในฮ่องกงกับตำรวจควบคุมฝูงชน เมื่อปี 2562 REUTERS/Thomas Peter

ข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในเขตซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และการปราบปรามภาคประชาสังคมแบบถอนรากถอนโคนในฮ่องกงก็มีบทบาทในการเปลี่ยนการรับรู้ของชาวยุโรปด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่จีนเรียกข้อกล่าวหาว่ามีชาวอุยกูร์มากกว่าหนึ่งล้านคนและชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ ในค่ายกักกันในซินเจียง “โรงงาน” และประณามการอภิปรายในประเด็นเหล่านี้ว่าเป็น “การแทรกแซง” กิจการภายใน

ตะวันตกเลิกหวังจะเปลี่ยนจีนได้

สตีฟ จาง ผู้อำนวยการสถาบัน SOAS China แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า จีนเรียกร้องให้คนทั้งโลกเคารพนับถือและยอมรับจุดยืนของจีน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่คนอื่นคิด

การรุกคืบของจีนนี้ทำให้ชาติประชาธิปไตยตะวันตกละทิ้งนโยบายที่หวังช่วยจีนปรับปรุงสู่ความทันสมัยและเติบโตขึ้น ด้วยความหวังว่าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้จีนกลายมาเป็นผู้ร่วมหุ้นส่วนในกิจการของโลก จางกล่าว

สหภาพยุโรปพลิกมาประกาศให้จีนเป็น “คู่แข่งอย่างเป็นระบบ” และความสัมพันธ์ยังคงขัดแย้งกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ที่ประชุมผู้นำอียู / AP PHOTO
ที่ประชุมผู้นำอียู / AP PHOTO

จีนยิ่งงัดยิ่งผลักยุโรปเข้าหาสหรัฐ

ปีที่ผ่านมาจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้ายุโรปที่ใหญ่เป็นอันดับสามและเป็นแหล่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าสู่ยุโรป แต่ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรปกับรัฐบาลปักกิ่ง

การสูญเสียทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือข้อตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและจีนหยุดชะงักไปเมื่อปีที่แล้วหลังจากการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 4 คน ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ส่วนจีนลงโทษต่อผู้ร่างกฎหมายและองค์กรของสหภาพยุโรป กลุ่มนักคิดของยุโรป และนักวิชาการอิสระด้วย

ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีนกับลิทัวเนีย ทำให้สหภาพยุโรปยกระดับคดีที่ฟ้องร้องกันในองค์การการค้าโลก หรือ WTO กล่าวหาว่าจีน “เลือกปฏิบัติทางการค้ากับลิทัวเนีย” เพื่อตอบโต้ที่จีนกล่าวหาลิทัวเนีบละเมิด “นโยบายจีนเดียว” จากการระบุว่าไต้หวันเป็นดินแดนที่มีอธิปไตย

จีนกับสหภาพยุโรป

อินกริด ดอจห์ ผู้ร่วมวิจัยอาวุโสของคลินเกนแดล หน่วยงานวิเคราะห์คลินเกนเดล ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า กลยุทธ์ของจีนที่มีต่อยุโรปกำลังพังทลาย และดูเหมือนไม่เข้าใจว่าการกระทำทั้งหมดเหล่านี้ ปฏิกิริยาที่มากเกินไปของจีนไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ฉลาด และยังผลักดันยุโรปให้ใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น

การแสดงท่าทีของจีนเหล่านี้อาจเปลี่ยนความคิดของยุโรปด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ตามความเห็นของเฮนรี่ เกา จาก Yong Pung How School of Law มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ “สำหรับพวกเขา การดำรงความสัมพันธ์แบบเย็นชา อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจ่าย และมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการตั้งประเด็นทางการเมือง”

ศึกรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้ร้าว

ขณะที่ประเทศในยุโรปผนึกสหรัฐ ร่วมกันสนับสนุนยูเครน จีนก็เอนเอียงไปทางรัสเซีย ปฏิเสธที่จะประณามการกระทำของรัสเซียโดยกล่าวโทษสหรัฐ และนาโต้สำหรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้

หมิงเจียง ลี่ รองศาสตราจารย์และประธานฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี นันยาง ในสิงคโปร์กล่าวว่า “สำหรับจีน กรณีนี้ถือเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างใหญ่หลวง พวกเขาไม่สามารถรับผลกระทบเชิงลบที่สำคัญใด ๆ ต่อความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซีย และความผูกพันที่ใกล้ชิดระหว่างสี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย”

ปูตินพบสี จิ้นผิง วันเปิดมหกรรมโอลิมปิก ฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง 4 ก.พ. / AFP

เฉิน ติงติง ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งสถาบันวิเคราะห์การเมือง อินเทลลิเซีย เมืองกว่างโจว เขียนบทความลงเว็บไซต์ The Diplomat ว่า ความเสี่ยงของสงครามในยูเครนยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในจีน เพราะเจ้าหน้าที่และนักวิชาการไม่อาจจะรับรู้ถึงเรื่องช็อก ถึงความตายและสภาพพังย่อยยับในยูเครนจะส่งผลมาถึงชาวยุโรป

“ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และทางอารมณ์จิตใจเกี่ยวกับสงคราม จะเปลี่ยนทัศนคติของชาวยุโรป ต่อความมั่นคงพื้นฐาน การพึ่งพาเศรษฐกิจ และอธิปไตยแห่งชาติไปอีกนานหลายปี” เฉินระบุ


….