ทั่วโลกหันพึ่ง “แรงงานสูงอายุ” แก้วิกฤตขาดแคลน “ทักษะสูง”

ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกที่มี “ผู้สูงอายุ” ในตลาดแรงงานมากขึ้นชัดเจน ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเอเชีย แต่ลุกลามไปทั่วโลก ไม่เว้นแต่ประเทศในยุโรปและตะวันตก การเกษียณอายุงานถูกปรับขึ้นไปอยู่ที่ 65 ปี ขณะที่บางประเทศมีนโยบายขยายอัตราส่วนการจ้างแรงงานผู้สูงอายุที่มีทักษะมากขึ้น

รายงานจาก “OECD” หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป ระบุว่า การจ้างแรงงานผู้สูงอายุแม้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็ถือว่าอัตราจ้างงานผู้สูงอายุสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากดูภาพรวมของอัตราส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุระหว่าง 55-64 ปี โดยพบว่าในช่วงปี 2000-2016 เพิ่มขึ้นมากกว่า 14% จาก 44% สู่ระดับ 58.4% ในปี 2016

ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของกลุ่มแรงงานที่มีอายุระหว่าง 24-54 ปี ปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย จาก 76.8% ในปี 2000 เป็น 79.5% ในปี 2016

นอกจากนี้ รายงานฉบับล่าสุดระบุว่าอัตราส่วนของประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ หรือคนทำงานที่อายุระหว่าง 65-69 ปีเพิ่มขึ้น โดย “อินโดนีเซีย” ครองแชมป์อันดับหนึ่งของประเทศที่มีผู้สูงอายุอยู่ในตลาดแรงงานมากที่สุดถึง 50.6%

ส่วนอันดับ 2 และ 3 ได้แก่ เกาหลีใต้ 45% และ ญี่ปุ่น มีสัดส่วนที่ 42.8% ที่น่าตกใจคือ จากผลการศึกษาของ OECD ยังพบว่า อายุเกษียณในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นถูกจัดอันดับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุผู้ชายในเกาหลีใต้ที่เกษียณอายุ 72 ปี ส่วนญี่ปุ่นอยู่ที่ 70 ปี 2 เดือน

นักวิเคราะห์จาก OECD กล่าวว่า ทัศนคติ วัฒนธรรม และกฎหมาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความแตกต่างที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ขณะที่อัตราการเกิดต่ำถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ไม่อาจละเลยได้ โดยประเทศที่มีการจ้างแรงงานสูงอายุต่ำสุด ได้แก่ “สเปน” ที่มีผู้สูงอายุทำงานในประเทศเพียง 5.3% เท่านั้น ส่วนรองอันดับสุดท้าย คือ ฝรั่งเศส มีราว 6.3%

โดยปัจจัยหลักมาจากกฎหมายข้อบังคับที่เคร่งครัด ที่ระบุว่า พนักงานจะถูกลงโทษหากมีความต้องการที่จะทำงานหลังจากเกษียณอายุไปแล้ว ขณะที่บางประเทศในยุโรปยังมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มโควตาจำนวนแรงงานสูงอายุ รวมถึงขยายอายุการเกษียณงานเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน บลูมเบิร์ก และ เวิล์ด อีโคโนมิก ฟอรัม รายงานว่า ปัจจุบันบางประเทศในเอเชียเริ่มปรับตัวกับแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ หรือบางตำแหน่งงานที่เป็นสายเฉพาะทาง เช่นกรณี รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศขยายอายุเกษียณงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปี ภายในปี 2025 ทั้งยังจะเปิดกว้างต่อตำแหน่งงานเฉพาะด้านที่ขาดแคลนในประเทศสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุด้วย

ส่วนอเมริกา ได้ประกาศเป้าหมายใหม่โดยจะเปิดรับผู้สูงอายุทำงานมากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 19% ของแรงงานในประเทศ เป็น 29% ในปี 2060

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่อยู่ในอเมริกา อาทิ ธนาคารบาร์เคลย์, ฟอร์ด และบริษัทที่ปรึกษา บูซ อัลเลน แฮมิลตัน(Booz Allen Hamilton) มีโครงการเพื่อสนับสนุนการรับกลุ่มผู้สูงอายุเข้าทำงาน โดยต้องมีประสบการณ์และทักษะตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท เป็นต้น

หรือแม้แต่ สหราชอาณาจักร (UK) ที่ตั้งเป้าจะรับคนทำงานวัยเกษียณเพิ่มขึ้น 12% ภายในปี 2022 เพื่อแก้วิกฤตการขาดแคลนแรงงานที่กำลังประสบอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะใน “ลอนดอน” ซึ่งนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤต “เบร็กซิต” ภาวะความไม่แน่นอนต่าง ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษที่เป็นหัวหอกของ UK ชะลอตัว สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในแง่ของการเติบโตทางธุรกิจ และกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

“คาร์ลอส สลิม เอลู” มหาเศรษฐีธุรกิจสื่อสาร ชาวเม็กซิกันเชื้อสายเลบานอน เคยกล่าวไว้ว่า “โลกจะค่อย ๆ เปลี่ยนและให้พื้นที่กับคนทำงานผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานผู้สูงอายุที่ว่างงาน ยังช่วยให้ประเทศนั้น ๆ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผ่านกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่าง ๆ ส่วนผมก็ตั้งเป้าว่าจะทำงานจนถึงอายุ 75 ปี หรือมากกว่าเท่าที่จะไหว ผมเชื่อว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน ความเชี่ยวชาญยังสร้างมูลค่าได้เสมอ”